งานสัมมนาความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคและการเจรจาถึงการทำงานร่วมกันเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง

ข่าวทั่วไป Wednesday May 25, 2022 18:01 —ThaiPR.net

งานสัมมนาความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคและการเจรจาถึงการทำงานร่วมกันเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขง

มีการจัดงานสัมมนา " บทบาทความสำคัญและทางออกของการพัฒนาเขื่อน : กรณีศึกษาเขื่อนแม่น้ำโขง" สถานที่จัดงาน HUBBA Sathorn กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม 2565  โดย Cohesion Impact Hub หนึ่งในกระบอกเสียงหลักของภาคประชาสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศจีน และได้ขยายไปยังอินเดีย ไทย กัมพูชา และเร็ว ๆ นี้จะขยายไปในเวียดนาม

การจัดงานสัมมนาครั้งนี้เพื่อรวบรวมมุมมอง ความคิดเห็นต่อการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำโขง จากหลากหลายกลุ่มทั้งภาคการศึกษา นักวิชาการ และภาคประชาสังคม โดยอาจารย์กัมปนาท ภักดีกุล จากทางคณะสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ แม่น้ำโขงอดีตถึงปัจจุบันว่า เนื่องจากมีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันเพื่อรองรับการเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การคมนาคมระหว่างประเทศ ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (The Lower Mekong Basin: LMB) และระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ก่อเกิดการผลักดัน การขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงต่อภูมิภาคตลอดช่วงศตวรรษที่ผ่านมา และกำลังส่งผลกระทบต่ออนุภูมิภาคทั้งทางบวกและทางลบ และแน่นอนทุกคนทราบดีว่าการพัฒนาแม่น้ำโขงจากแนวทางดังกล่าว ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ลดลง โดยเฉพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่น ส่งผลต่อความยากจนและความเปราะบางทางสังคมของชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เป็นผลมาจากความผันผวนของระดับน้ำแม่น้ำโขงที่ถูกควบคุมจัดการโดยเขื่อนทั้งตอนบนและตอนล่าง ซึ่งปัจจุบันเราสามารถติดตามสถานะของระดับน้ำของแม่น้ำโขงแบบใกล้เวลาจริง (Near Real-time) ได้จาก Mekong Dam Monitor (MDM) ที่ได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์สติมสัน (Stimson Center) และสามารถติดตามระดับน้ำได้อีกในหลาย ๆ ช่องทาง เช่น กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ อย่างไรก็ตามเราควรตระหนักถึงการอ้างอิงข้อมูล ด้วยการตรวจสอบข้อมูล (Cross check) จากหลายแหล่งที่มา ข้อมูลจาก MDM ก็เคยถูกตรวจสอบถึงความคลาดเคลื่อนของการอ่านข้อมูลระดับน้ำของเขื่อนจีนในลุ่มน้ำโขงตอนบน โดย Global Times (Hu Yuwei, March 2022)

ปิดท้ายจากคุณสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา อุปนายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต  (Living River Association: LRA) ตัวแทนภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาเขื่อนให้ความเห็นว่าภาคประชาชนต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวใหญ่เกินกว่าภาคประชาชนจะแก้ไขปัญหาเองได้ ดังนั้นผู้สนับสนุนโครงการที่เกิดขึ้นควรนำผลประโยชน์ที่ได้รับกลับมาพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด ล้วนต้องช่วยกันดูแล เราจะไม่มีการขัดแย้ง แต่เราจะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ