กระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา และต้นแบบหมู่บ้าน CIV ประแส จังหวัดระยอง สัมผัสวิถีชุมชนและอัตลักษณ์ท้องถิ่น มุ่งเสริมแนวคิดยกระดับผลิตภัณฑ์ ติดอาวุธทักษะดิจิทัล เล็งขยายโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา ตำบลกะเฉด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และต้นแบบหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ณ ชุมชนประแส จังหวัดระยอง โดยได้เยี่ยมชมความสำเร็จของกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา (สวนหอมมีสุข) เป็นแห่งแรก ซึ่งกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา (สวนหอมมีสุข)เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรที่มีความสนใจปลูกไม้กฤษณาและได้ทดลองวิธีการต่างๆ ที่ทำให้เกิดแก่นไม้กฤษณาจนประสบผลสำเร็จ โดยการจัดตั้งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างผลผลิตจากไม้กฤษณา มีการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่พันธุ์กล้าไม้กฤษณา แก่นกฤษณา น้ำมันหอมระเหย ไปจนถึงสินค้า OTOP ที่ขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศ จำนวนกว่า 20 ประทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง โดยจดทะเบียนนิติบุคคลเพื่อการส่งออกในชื่อ "หอมมีสุข" เมื่อปี 2552 เป็นต้นมา จนได้รับรางวัลระดับประเทศด้านผู้ประกอบการสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและส่งออกยอดเยี่ยม สินค้าที่ผลิตมีมากกว่า39 ชนิด ที่ผลิตจากสมุนไพรธรรมชาติไม่ใส่สีและสารเคมี
และนอกจากผลิตไม้กฤษณาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้เข้ามาศึกษาเกี่ยวกับไม้กฤษณาอีกด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรผลิตไม้กฤษณา ได้รับสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จำนวน 2,120,000 บาท เพื่อนำไปปรับปรุงกิจการ เมื่อปี 2560 และยังได้รับสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ในโครงการเสริมแกร่ง SMEs ที่รัฐให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเงินและบัญชี ปี 2564 และโครงการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมระดับจังหวัด ปี 2564 รวมทั้งได้ขอรับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) การบริหารกิจกรรมเชิงนิเวศเพื่อการท่องเที่ยว กิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ อาทิ โฟมล้างหน้า เนื้อมูสอ่อนนุ่ม ให้ความกระจ่างใส สดชื่นและมีกลิ่นหอมจากกฤษณา ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับการรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 6 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย แชมพูกฤษณา ครีมนวดผมกฤษณา สบู่ก้อน สบู่ก้อนกลีเซอรีน ผลิตภัณฑ์พอกหน้า และผลิตภัณฑ์บำรุงผิว
จากนั้น รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำคณะไปสัมผัสกับวิถีชุมชน ณ หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บ้านปากน้ำประแส ตำบลปากน้ำประแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยชุมชนแห่งนี้ประกอบไปด้วย หมู่บ้าน 8 แห่ง ที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายชนิด ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังพึ่งพาอาชีพประมงพื้นบ้าน มีการทำนากุ้ง เลี้ยงปลาน้ำกร่อยริมฝั่งแม่น้ำ บางหมู่บ้านก็ยังยึดอาชีพทำสวนผลไม้ ซึ่งความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ยังทำให้ตำบลปากน้ำประแสมีท่าเรือประมงขนาดใหญ่ มีชุมชนอยู่กันหนาแน่น จึงกลายเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของตำบล โดยสัญลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้คือเรือหลวงประแส 412 ที่เป็นอนุสรณ์สถาน ที่ได้รับการบรรจุเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ที่ถูกนำมาใช้เป็นตรารับรองผลิตภัณฑ์หรืองานบริการต่าง ๆ ภายในชุมชน และยังมีจุดท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นศาลกรมหลวงชุมพรฯ ทุ่งโปร่งทอง สะพานชมวิวประแสสิน บ้านพิพิธภัณฑ์ปากน้ำประแส ทั้งยังมีกิจกรรมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และสัมผัสวิถีชุมชนสำหรับการลงพื้นที่ในวันนี้ (26 พ.ค.65) เพื่อสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์
โดยในเดือนมิถุนายน 2565 ทีมของกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ในโครงการ"ดีแทคเน็ตทำกิน"จะลงพื้นที่ชุมชนอีกครั้งเพื่อเตรียมความกระตุ้นการท่องเที่ยวและการบริโภคเศรษฐกิจระดับชุมชน(Local Economy) โดยการพัฒนาผู้ประกอบการชุมชนเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ในพื้นที่ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและการตลาดรองรับการท่องเที่ยวระดับชุมชนงานฟื้นฟูการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและการเข้าสู่ยุค New Normal ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19)
"ความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและดีแทคจะช่วยเสริมศักยภาพการทำการตลาด โดยเฉพาะการทำตลาดออนไลน์ การทำคอนเทนต์เพื่อเล่าเรื่องของชุมชน ซึ่งนอกจากส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนให้เกิดขึ้นแล้ว ยังเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มรายได้ชุมชน โดยรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นรายได้จากการจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ รายได้จากการขายของที่ระลึก การท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะเดียวกันคาดว่าการนำระบบดิจิทัลมาผสานกับวิถีชีวิตดั้งเดิมจะช่วยดึงจุดเด่นของชุมชนออกมาเป็นจุดขาย ทำให้คนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น และเห็นคุณค่าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นในชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ให้เพิ่มขึ้น ตอบโจทย์นโยบายรัฐด้านการแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย" รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย