สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดประชุมวิชาการออนไลน์เรื่อง "ความยั่งยืนด้านการเงินและการพัฒนาตลาดทุนประจำปี 2022" (Sustainability in Finance and Capital Market Development 2022) โดยมีนายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวงเสวนาเรื่อง "ความยั่งยืนด้านการเงิน" (Sustainability in Finance) ร่วมกับศาสตราจารย์บานิต้า บิสซูนดูยัล-บฮีนิกข์ รองคณบดีคณะธุรกิจและกฎหมายจากมหาวิทยาลัย RMIT นายพลภัทร อัครปรีด ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้างานด้าน ESG จากโกบี พาร์ทเนอร์ นางสาววินิตา กุลตังวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธรรมาภิบาลและความยั่งยืน ก.ล.ต. และนายพชร อารยะการกุล ซีอีโอ บลูบิค กรุ๊ป ชี้ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น โดยการประชุมดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ขององค์กรต่างๆในการสนับสนุนด้านการเงินและตลาดทุน โดยเน้นไปที่ปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในองค์กรและการพยายามบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ทั้งนี้ภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน โดยมีผู้บริหารอาจารย์ นักวิชาการ และนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมฟังอย่างคับคั่ง
นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านเครือเจริญโภคภัณฑ์ดำเนินธุรกิจมาครบหนึ่งศตวรรษและในปีนี้ถือได้ว่าเข้าสู่ศตวรรษที่สองของเครือฯ ที่เต็มไปด้วยความท้าทายของโลกในหลายมิติ ซึ่งจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการลงทุนทำธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าและบริการให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์คือต้องสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่เข้าไปลงทุนทั้งต่อประชาชนและสังคม ควบคู่ไปกับการบริหารองค์กรภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ โดยเครือซีพีได้ประกาศยุทธศาสตร์และเป้าหมายความยั่งยืนสู่ปี 2030 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3Hs คือ Heart - Living Right, Health - Living Well และ Home - Living Together รวม 15 เป้าหมายในดำเนินธุรกิจด้วยความยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จในปี 2030 ประกอบด้วย 3 เป้าหมายหลัก คือ 1. เป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 (Carbon neutrality) เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net zero emissions) 2. เป้าหมายการลดปริมาณขยะจากอาหารเป็นศูนย์ (Zero food waste)และเป้าหมายการลดของเสียที่ถูกนำไปฝังกลบต้องเป็นศูนย์(Zero waste to landfill) และ 3. เป้าหมายสนับสนุนผู้คน 50 ล้านคนผ่านระบบการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อเพิ่มทักษะสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างความเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ
นายนพปฎล กล่าวต่อว่า เครือซีพีได้ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืนผ่าน Key Success สำคัญ 5 ด้านตามแนวทางของนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี คือ 1.การสร้างภาวะผู้นำที่ต้องตระหนักรู้ในการทำธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน 2. มีเป้าหมายและมีการวัดผลตัวชี้วัดที่ชัดเจน มีความโปร่งใสในการเปิดเผยผลการประเมินทุกปี 3.ต้องมองกลไกทางการตลาดซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะต้องประเมินความเสี่ยง โอกาส และความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยนำแนวคิด ESG เป็นกลยุทธ์สำคัญในการนำมาปรับใช้ เพราะขณะนี้สหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ซึ่งธุรกิจของไทยจะต้องส่งออกสินค้าในกลุ่มอียู ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตรับกติกาสากลนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้ทันต่อการแข่งขันธุรกิจในตลาดโลก ทั้งนี้นักลงทุนจึงต้องให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาลขององค์กร 4.นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของโลก และ 5.สร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการร่วมกันหาแนวทางพัฒนาตามหลักเป้าหมายความยั่งยืน
"ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญ และส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในการทำธุรกิจทั้งในด้านการเงินและการลงทุนในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นหากจะประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ สิ่งสำคัญคือต้องไม่ทำเพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนช่วยกันพัฒนาตามเป้าหมายความยั่งยืนในทุกมิติ" นายนพปฎลกล่าว
ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมในวงเสวนาดังกล่าวยังให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญเรื่องการพัฒนาตลาดการเงินและการลงทุนอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการบริหารจัดการองค์กรด้วยการใช้หลักการสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนวัตกรรมขององค์กรผ่านมุมของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อีกด้วย