"ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นที่จะดีขึ้นในอนาคต"
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง และนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนพฤษภาคม 2565 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นที่จะดีขึ้นในอนาคต"
ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 70.4 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าแสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากคู่ค้าในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคบริการในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จากการที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 68.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากรัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และในภาคเกษตร เนื่องจากความต้องการพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเพิ่มขึ้น เช่น ปาล์มน้ำมัน และทุเรียน เป็นต้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 67.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น และในภาคการลงทุน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่คลี่คลายลง ทำให้ผู้ประกอบการมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 67.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยเป็นความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมของประชาชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น สำหรับภาคบริการ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่เพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 64.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในภาคเกษตร เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยวพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าว และสับปะรด เป็นต้น สำหรับภาคการลงทุน ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตดีขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่คลี่คลายลง ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมลงทุนเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 63.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในภาคเกษตร เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และในภาคบริการ จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของรัฐบาล ทำให้มีนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 52.4 แม้ยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต แต่เป็นการปรับตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการชะลอตัวของภาคการจ้างงานและภาคการลงทุน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน