ครม.เห็นชอบประกาศให้ "วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ"

ข่าวทั่วไป Tuesday May 31, 2022 09:55 —ThaiPR.net

ครม.เห็นชอบประกาศให้

ครม.เห็นชอบประกาศให้ "วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2565 รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย บูรณาการร่วมกันต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับผ้าไทยสู่เวทีโลก ด้าน วธ. เตรียมจัดงาน "ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล" ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 การแสดงแบบผ้าไทย 76 จังหวัด สาธิต ออกร้านจำหน่าย เสวนาเกี่ยวกับผ้าไทย สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ "วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ" ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2565 รัฐบาลมีนโยบายจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงออกถึงความจงรักภักดี โดยจัดโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่สอดคล้องกับโครงการต่างๆ ของพระองค์ พร้อมทั้งให้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการและพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ศึกษาหาความรู้จากโครงการต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกให้กับประชาชนชาวไทย และเพื่อเฉลิมพระเกียรติที่พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสานผ้าไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ เพื่อรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่อง "ผ้าไทย" เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไป ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติ สืบสานและต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยโดยภาครัฐ เอกชนและประชาชนบูรณาการร่วมกันเป็นพลังขับเคลื่อนมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทย อีกทั้งทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสานมรดกภูมิปัญญาผ้าไทยจากรุ่นสู่รุ่นนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดและยกระดับผ้าไทยไปสู่เวทีโลก ขณะเดียวกันชุมชน ผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมผ้าไทยได้รับการสนับสนุนให้เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทั้งระดับฐานรากและระดับชาติอย่างยั่งยืน และประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในการนำทุนทางวัฒนธรรมด้านผ้าไทยมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ก่อนที่จะเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.นั้น วธ.ประชุมหารือและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ โดยได้กำหนดนิยาม "ผ้าไทย" คือ ผ้าที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมรดกภูมิปัญญาของไทยที่ได้รับการสืบทอดต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่ผลิตขึ้นภายในประเทศโดยฝีมือคนไทย โดยใช้เทคนิค อาทิ การทอ จก ยก ขิด ล้วง ปัก มัดหมี่ มัดย้อม บาติก พิมพ์ โดยใช้เส้นใยธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ไหม ฝ้าย ใยสับปะรดที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่น และวธ.เตรียมแผนงานเพื่อบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ในการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ จัดโครงการและกิจกรรมเกี่ยวกับการส่งเสริม "ผ้าไทย" เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วน รวมทั้งประชาชนอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ โดยเป็นความร่วมมือของพสกนิกรชาวไทยที่ร่วมใจกันถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งวธ.จะจัดงาน "ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล" ช่วงเดือนสิงหาคม 2565 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่อง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยมีกิจกรรม เช่น นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ นิทรรศการ "ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล" การแสดงแบบผ้าไทยซึ่งตัดเย็บจากลายผ้าไทย อัตลักษณ์ไทย 76 จังหวัด การสาธิตการทอผ้า การออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทย กิจกรรมเสวนาวิชาการเกี่ยวกับผ้าไทย สร้างงาน สร้างรายได้ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ