กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ปภ.
ปภ.ตรัง จัดโครงการฝึกอบรมความรู้ด้านวิศวกรรมจราจร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง จัดโครงการฝึกอบรมความรู้ด้านวิศวกรรมแก่เจ้าหน้าที่โยธาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ด้านวิศวกรรมจราจรและการแก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายทางถนน รวมทั้งเข้ามามี ส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ นายสันติ์ จันทรวงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดตรังที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุบัติเหตุทางถนนได้ คือ การให้หน่วยงานในระดับท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานตามมาตรการด้านการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการด้านการให้ความรู้และประชาสัมพันธ์ มาตรการด้านวิศวกรรมจราจร มาตรการด้านระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มาตรการด้านการมีส่วนร่วม มาตรการด้านการประเมินผลและพัฒนาระบบข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านวิศวกรรมจราจร ซึ่งเป็นแนวทางการปฎิบัติเชิงรุก ได้แก่ การปรับปรุงจุดเสี่ยงอันตรายทางถนน ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมความรู้ทางด้านวิศวกรรมจราจรให้แก่เจ้าหน้าที่โยธาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 100 คน แห่งละ 2 คน รวม 200 คน โดยแบ่งการอบรมเป็น 2 รุ่น รุ่นละ 100 คน ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดตรัง (พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง) จังหวัดตรัง เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ด้านวิศวกรรมจราจรให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานระดับท้องถิ่น และให้เจ้าหน้าที่มีความรอบรู้ในเรื่องจุดเสี่ยง และการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงอันตรายทางถนน รวมทั้งเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในระดับพื้นที่ โดยการจัดโครงการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นการดำเนินงานควบคุมและป้องกันอุบัติเหตุ ทางถนนที่ครอบคลุมในทุกมาตรการ ในลักษณะบูรณาการโดยใช้กลไกการขับเคลื่อนทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางถนน ให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลด จำนวนผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ