เต็ดตรา แพ้ค พัฒนาและทดสอบการใช้เยื่อกระดาษแทนที่ชั้นอะลูมิเนียมเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 31, 2022 15:51 —ThaiPR.net

เต็ดตรา แพ้ค พัฒนาและทดสอบการใช้เยื่อกระดาษแทนที่ชั้นอะลูมิเนียมเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรม

หลังจากประสบความสำเร็จในการทดสอบและรับรองเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์เป็นเวลา 15 เดือน ในการใช้วัสดุที่ทำจากโพลีเมอร์แทนที่ชั้นอะลูมิเนียมไปแล้ว ขณะนี้ เต็ดตรา แพ้ค ได้ก้าวเข้าสู่อีกขั้นของการพัฒนากับการทดสอบชั้นปกป้องทดแทนอะลูมิเนียมที่ผลิตจากเยื่อกระดาษ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกสำหรับกล่องบรรจุภัณฑ์แบบปลอดเชื้อที่เก็บรักษาและจัดจำหน่ายในอุณหภูมิห้องโดยไม่ต้องแช่เย็น

โดยการทดสอบนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าในแผนงานระยะยาวของบริษัทที่มุ่งสู่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบปลอดเชื้อที่ทำจากวัสดุทดแทนได้จากธรรมชาติและรีไซเคิลได้ทั้งหมด พร้อมยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์

ชั้นอะลูมิเนียมที่ใช้ในกล่องบรรจุภัณฑ์อาหารแบบปลอดเชื้อซึ่งเป็นวัสดุพื้นฐานที่เต็ดตรา แพ้คนำมาใช้ปกป้องเพื่อรับรองความปลอดภัยของอาหาร แม้ว่าจะมีขนาดบางกว่าเส้นผม แต่ยังมีส่วนถึงหนึ่งในสามในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของวัสดุบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน

ในแง่มุมของการลดผลกระทบของสภาพภูมิอากาศ การทดสอบและรับรองเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ในการใช้วัสดุที่ทำจากโพลีเมอร์แทนที่ชั้นอะลูมิเนียมที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 2563 ช่วยให้บริษัทเข้าใจถึงความเป็นไปในห่วงโซ่คุณค่าจากการนำชั้นปกป้องทางเลือกมาใช้แทนชั้นอะลูมิเนียม และช่วยประเมินถึงการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ นอกจากนี้ ยังได้รับการยืนยันแล้วว่า สามารถช่วยปกป้องน้ำผักผลไม้จากออกซิเจนได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลในประเทศที่ผู้ประกอบการรีไซเคิลต้องการใช้กล่องที่ไม่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม

เมื่อนำการเรียนรู้เหล่านี้มาประกอบกัน ขณะนี้ บริษัทกำลังดำเนินการทดสอบวัสดุใหม่ที่ทำจากเยื่อกระดาษ ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า โดยผลิตภัณฑ์นำร่องแบบแรกคือกล่องเครื่องดื่มขนาดพกพาที่ใช้วัสดุนี้เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรม ได้ออกวางจำหน่ายแล้วเพื่อดูการตอบรับของผู้บริโภค โดยบริษัทได้วางแผนตรวจสอบเทคโนโลยีเพิ่มเติมภายในปี 2565 นี้

ความก้าวหน้าครั้งนี้เน้นย้ำแนวทางของเต็ดตรา แพ้ค ในการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล ที่ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มการใช้กระดาษเป็นวัสดุหลัก และยังสนับสนุนความคาดหวังของผู้บริโภคอีกด้วย ข้อมูลจากงานวิจัยระดับโลกฉบับล่าสุด[1] เผยว่า ผู้บริโภคประมาณร้อยละ 40 ยืนยันว่า หากบรรจุภัณฑ์ทำมาจากกระดาษทั้งหมด โดยไม่มีส่วนประกอบของพลาสติกหรืออะลูมิเนียมอยู่เลย จะเป็นแรงจูงใจให้พวกเขาอยากแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลมากขึ้น

ไจลล์ ทิสซาแรนด์ รองประธานฝ่ายสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพของเต็ดตรา แพ้ค ให้ความเห็นว่า "ผลลัพธ์ในช่วงแรกชี้ให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุใหม่ในชั้นปกป้องที่ทำจากเยื่อกระดาษจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างเห็นผลเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อแบบเดิม ควบคู่ไปกับคุณสมบัติที่ช่วยเก็บรักษาและส่งเสริมความปลอดภัยของอาหารที่บรรจุอยู่ภายใน ได้ในระดับใกล้เคียงกัน เราเชื่อว่า การพัฒนาครั้งนี้จะเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศโลก อีกทั้งกล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีสัดส่วนของกระดาษเพิ่มขึ้นยังเป็นที่สนใจสำหรับโรงงานผลิตกระดาษ ดังนั้น แนวคิดนี้จึงมีบทบาทที่ชัดเจนที่จะทำให้ผู้คนตระหนักเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนแบบคาร์บอนต่ำสำหรับบรรจุภัณฑ์กันมากขึ้น"

อีวา กุสตาฟสัน รองประธานฝ่ายวัสดุและบรรจุภัณฑ์ของเต็ดตรา แพ้ค เสริมว่า "นวัตกรรมแห่งความเปลี่ยนแปลงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนและเกี่ยวพันกันหลายมิติอย่างปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศหรือการหมุนเวียนทรัพยากร นี่คือเหตุผลที่เราไม่เพียงแค่ทำงานร่วมกับลูกค้าและซัพพลายเออร์ แต่ยังรวมถึงบริษัทสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัย และบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ที่รวมระบบเครือข่ายนิเวศทั้งระบบ ทำให้เราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันยุค และโรงงานการผลิตที่ล้ำสมัย "

อีวา กล่าวเพิ่มเติมว่า "เพื่อสร้างนวัตกรรมให้เดินหน้าต่อไป เราลงทุนสูงถึง 100 ล้านยูโรต่อปี และจะต่อเนื่องไปเช่นนี้ในตลอด 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อยกระดับคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมของบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งรวมไปถึงการทำการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโครงสร้างวัสดุที่เรียบง่าย และเพิ่มส่วนประกอบของทรัพยากรทดแทนได้จากธรรมชาติให้มากขึ้น หนทางในการบรรลุเป้าหมายของเรานั้นยังอีกยาวไกล แต่ด้วยแรงสนับสนุนจากพันธมิตรของเรา และความมุ่งมั่นที่แข็งแกร่งของเราในการสร้างความปลอดภัยทางอาหารและความยั่งยืนให้เกิดขึ้น เราจะไปถึงจุดนั้นในที่สุด"

[1] งานวิจัยผู้บริโภค ด้านบรรจุภัณฑ์อาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Packaging Consumer Research) ประจำปี 2564 เป็นการสำรวจสิ่งแวดล้อมครั้งล่าสุดของเต็ดตรา แพ้ค ดำเนินการในช่วงฤดูร้อนปี 2564 โดยการสัมภาษณ์ผู้บริโภค 12,000 รายด้วยแบบสอบถามออนไลน์ใน 23 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อิตาลี ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี แอฟริกาใต้ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย บราซิล สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก ชิลี โปแลนด์ สวีเดน สเปน รัสเซีย กรีซ เซอร์เบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน และอาร์เจนตินา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ