ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดแคมเปญส่งสารรณรงค์สร้างการตระหนักรู้แก่สตรีไทย #ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน สัญญาณเตือนโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือช็อคโกแลตซีสต์ ส่งท้ายเดือนพฤษภาคม เดือนรณรงค์ของ Pelvic Pain Awareness
May is Pelvic Pain Awareness Month พฤษภาคม เดือนแห่งการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาการปวดท้องน้อยของสตรี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และโรงเรียนนักอัลตราซาวด์ทางการแพทย์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ร่วมกับ บริษัท ไบเออร์ ไทย จำกัด และ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือจัดแคมเปญในรูปแบบไฮบริดเพื่อส่งสารรณรงค์สร้างการตระหนักรู้แก่สตรีไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพภายใต้แนวคิด #ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน สัญญาณเตือนโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อคโกแล็ตซีสต์ ส่งท้ายเดือนรณรงค์ Pelvic Pain Awareness Month โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมเวทีเสวนาสร้างความตระหนักรู้ เรื่องโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, แพทย์หญิงกตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์, แพทย์หญิงกรพินธุ์ รัตนสัจธรรม เจ้าของเพจ Doctor ออ, Woman expert พร้อมด้วยแขกรับเชิญสาวสวยคนพิเศษ คุณออม สุชาร์ มานะยิ่ง มาร่วมรณรงค์ตอกย้ำสารของแคมเปญในฐานะผู้หญิงรักสุขภาพที่ไม่ปล่อยผ่านเรื่องอาการปวดท้องน้อยของตัวเองมาร่วมแชร์ประสบการณ์บนเวที ดำเนินรายการโดย คุณได๋ ไดอาน่าจงจินตนาการ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ลงทะเบียนที่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมในวันงาน และรับบริการประเมินอาการและตรวจคัดกรองด้วยวิธีอัลตราซาวด์ รวมถึงการติดตามรับชมกิจกรรมผ่านทางออนไลน์ช่อง Youtube CRA CHULABHORN Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ณัฐวุฒิ กันตถาวร ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และหัวหน้าศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ กล่าวถึง "แคมเปญรณรงค์และอาการของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ว่า "ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน คือสารรณรงค์กระตุ้นเตือนในเดือนของ Pelvic Pain Awareness Month โดยเราอยากให้สตรีไทยทุกคนได้เล็งเห็นความสำคัญของอาการปวดท้องน้อยแล้วอย่าปล่อยผ่าน เพราะการปวดท้องน้อยในกลุ่มผู้หญิง อาจจะไม่ใช่เรื่องปกติอย่างที่เราคิด และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งสัญญาณเตือนเราเกี่ยวกับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งเป็นโรคที่ผู้หญิงหลายคนมักมองข้าม ยิ่งในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน ก็อาจจะคิดว่าการปวดท้องน้อยเป็นเรื่องปกติ ซึ่งความจริงอาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างก็ได้ โดยโรคนี้พบได้ประมาณ 1 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และอาจสูงถึง 5 ใน 10 ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอาการปวดประจำเดือน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากมีอาการปวดประจำเดือนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ซึ่งผู้หญิงควรใส่ใจ เพื่อให้รับมือได้อย่างรู้เท่าทัน ฉะนั้นการปวดท้องน้อยควรเป็นอาการที่ไม่ควรปล่อยผ่านอีกต่อไป การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ในปีนี้ เราจึงอยากเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญในการเป็นผู้รณรงค์ให้ทุกๆ คนตระหนักและใส่ใจในโรคชนิดนี้ และโรคอื่นๆ ให้มากขึ้น"
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ คือ ภาวะที่มีการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นผิดที่ โดยที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตนอกโพรงมดลูก อาจแทรกตัวอยู่ในผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุช่องท้อง รังไข่ ผนังลำไส้ และผนังกระเพาะปัสสาวะ หรือบางครั้งอาจกระจายไปสู่อวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด เมื่อเยื่อบุเหล่านี้ไปเจริญเติบโตอยู่ผิดที่ทำให้มีเลือดสีแดงคล้ำหรือสีดำข้นคล้ายช็อกโกแลตขังอยู่ตามอวัยวะดังกล่าว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของอาการผิดปกติต่างๆ ที่พบได้ในผู้ป่วยโรคนี้ เช่น หากมีการไปเจริญเติบโตที่รังไข่จนกลายเป็นถุงน้ำจะเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ ตำแหน่งที่พบบ่อยส่วนใหญ่มักพบบริเวณอุ้งเชิงกราน ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ เยื่อบุช่องท้องทางด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างของมดลูกรวมถึงอวัยวะใกล้เคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบได้ที่ท่อไต ลำไส้เล็ก ปอด สมอง และบริเวณผิวหนัง หรือแผลผ่าตัด เป็นต้น โดยกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูง มักมีความสัมพันธ์กับการมีประจำเดือน เช่น สตรีที่เริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนเพื่อนๆ สตรีที่เข้าสู่ภาวะวัยหมดประจำเดือน (วัยทอง) ช้ากว่าปกติ สตรีที่มีประจำเดือนออกมากและออกนานหลายวัน สตรีที่รอบเดือนมาถี่ หรือระยะห่างระหว่างที่เป็นประจำเดือนแต่ละรอบสั้น สตรีที่มีมารดา พี่สาว หรือน้องสาวเป็นโรคนี้ สตรีที่มีลูกคนแรกตอนอายุมาก ก็จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ และกาแฟมากๆ ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สูงขึ้นด้วย ทั้งนี้ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดประจำเดือนทำให้เราต้องทนทุกข์ทรมานจากการปวด ส่งผลทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง บางครั้งส่งผลทางด้านการงานและสังคม ทำให้เราต้องหยุดเรียน หรือหยุดงานเนื่องจากอาการปวด ในบางคนเกิดการแตกของถุงน้ำ ทำให้เกิดอาการปวดท้องแบบเฉียบพลัน อาจต้องได้รับการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน นอกจากนั้น โรคนี้อาจทำให้เกิดปัญหาภาวะมีบุตรยาก เนื่องจากโรคนี้มักจะทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน บางรายเป็นมากจนทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ทั้งสองข้างทำให้ไม่สามารถมีบุตรเองได้โดยวิธีธรรมชาติ อาจจำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัด หรือต้องใช้เทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์
โดยแพทย์หญิงกตัญญุตา นาคปลัด แพทย์เฉพาะทางสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้กล่าวถึง "แนวทางการรักษาและวิธีการป้องกันและควบคุมการเกิดโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ไว้ว่าเนื่องจากโรคนี้เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาหายขาดได้โดยธรรมชาติของโรค แต่จะดีขึ้นเองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน เนื่องจากวัยหมดประจำเดือนไม่มีฮอร์โมนเพศ (เอสโตรเจน) ในการกระตุ้นตัวโรคอีก ส่วนจุดประสงค์ของการรักษาในปัจจุบันก็เพื่อเป็นการบรรเทาอาการของโรค โดยเน้นการรักษาตามอาการของโรค เป็นหลัก แบ่งออกได้เป็น 3 วิธีใหญ่ๆ ได้แก่ 1.การรักษาด้วยยา 2.การรักษาด้วยการผ่าตัด และ 3.การรักษาร่วมกันระหว่างการให้ยาและการผ่าตัด"
การรักษาด้วยยา โดยการใช้ยาแก้ปวด หรือยาฮอร์โมนกดการทำงานของรังไข่เพื่อบรรเทาอาการปวด จึงไม่ช่วยในกรณีที่ผู้ป่วย ต้องการมีบุตร กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษา เช่น กลุ่มยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบ กลุ่มเอ็นเสด (NSAIDS) ในกรณีที่ปวดประจำเดือนไม่มาก อาจเริ่มด้วยยากลุ่มพาราเซตตามอล แต่ถ้าต้องการยาที่มีฤทธิ์แก้ปวดมากขึ้น อาจใช้ยาต้านการอักเสบกลุ่มเอ็นเสด กลุ่มยาคุมกำเนิด รวมถึงชนิดยาเม็ด ยาฉีด ยาฝัง แผ่นแปะคุมกำเนิด และวงแหวนคุมกำเนิดทางช่องคลอด โดยยากลุ่มนี้มีประสิทธิภาพดีในการช่วยลดอาการปวดและปริมาณประจำเดือน กลุ่มยาฮอร์โมนกลุ่มโปรเจนติน สามารถบรรเทาอาการปวดได้ผลดี มักใช้ในกรณีที่อาการปวดไม่ดีขึ้น ยาในกลุ่มนี้มีทั้งแบบเม็ดรับประทาน ยาฉีด และชนิดที่เป็นห่วงคุมกำเนิด สำหรับยากลุ่มนี้เป็นยากลุ่มที่มีรายงานการศึกษาและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้โรคแย่ลง แต่สิ่งที่แตกต่างกันในยาแต่ละตัวคือ เรื่องของอาการข้างเคียง เช่น ยาบางตัวอาจทำให้น้ำหนักขึ้นมาก ยาบางตัวอาจก่อให้เกิดสิว ผิวมัน หรือว่าขนดก แต่ก็มียาบางตัวเช่นกัน ที่มีอาการข้างเคียงน้อยกว่าตัวอื่นๆ และเหมาะสำหรับรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ระยะยาวได้ กลุ่มยาฮอร์โมนกลุ่มแอนโดรเจน เป็นยาฮอร์โมนกระตุ้นลักษณะเพศชาย มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคนี้ และลดอาการปวดประจำเดือนได้ดี ส่วนใหญ่เป็นรูปแบบรับประทาน แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมใช้ เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น สิว หน้ามัน มีขนหรือหนวดขึ้น และอาจมีเสียงเปลี่ยนเป็นแบบผู้ชาย เป็นต้น
การรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งจะเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดประจำเดือนมาก หรือเป็นสาเหตุที่ปวดท้องน้อยเรื้อรังที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล มีถุงน้ำช็อกโกแลตที่รังไข่ขนาดใหญ่มากกว่า 3-4 เซนติเมตร หรือมีบุตรยาก เป็นต้น โดยการผ่าตัดจะเอารอยโรคหรือถุงน้ำช็อกโกแลตออก แต่ในรายที่เป็นมากอาจต้องทำการผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออกทั้งสองข้าง ซึ่งปัจจัยที่คำนึงถึงการผ่าตัดว่าจะตัดอะไรออกบ้าง ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ความรุนแรง ของโรค อายุ ความต้องการมีบุตร และโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรค
การรักษาร่วมกันระหว่างการใช้ยาและการผ่าตัด เนื่องจากโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคเรื้อรังที่ ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีอัตราการเป็นซ้ำสูงหลังการรักษา ดังนั้น จึงควรใช้ยารักษา ต่อเนื่องในระยะยาวเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ร่วมถึงการป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรคนี้หลังผ่าตัด โดยแนะนำให้ยาต่อเนื่องจนผู้ป่วยต้องการมีบุตร หรือให้ยาฮอร์โมนรักษาต่อเนื่องอย่างน้อยหนึ่งปีครึ่งถึงสองปี หรือให้ต่อจนถึงวัยหมดประจำเดือน ดังนั้น การเลือกใช้ยาจึงควรเลือกใช้ยาที่มีประสิทธิภาพดี มีความปลอดภัยสูงและมีผลข้างเคียงต่ำ เนื่องจากต้องให้ยาเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน
สำหรับการป้องกันโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอน ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือนหรือปวดบริเวณท้องน้อย ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อการวางแผนในการดูแลรักษาในอนาคตต่อไป
ด้านแพทย์หญิงกรพินธุ์ รัตนสัจธรรม เจ้าของเพจ Doctor ออ , Woman expert ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า "ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดโรคนี้ที่ได้ผลแน่นอน ดังนั้น หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะอาการปวดประจำเดือนหรืออาการที่คุณหมอหลายๆ ท่านบอกไป แนะนำว่าควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว ก็ยังมีโอกาสการกลับเป็นซ้ำของโรคได้สูงถึง 50% ใน 5 ปี หรืออาจจะสูงถึง 70% ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการของโรครุนแรง ดังนั้น การที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยยาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ก็จะช่วยป้องกันการเกิดการกลับเป็นซ้ำของโรคได้ในระยะยาว เพิ่มคุณภาพชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อีกทั้ง ยังไม่มีอาการปวดท้องน้อยมากวนใจอีกต่อไป"
ปิดท้ายที่นักแสดงสาวสวย ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง ที่ได้มาร่วมรณรงค์ในแคมเปญ Pelvic Pain Awareness Month #ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน เพราะเคยผ่านประสบการณ์ตรงและเข้ารับการผ่าตัดด่วนเนื่องจากซีสต์ในรังไข่ โดยออม-สุชาร์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ครั้งนั้น พร้อมทั้งยังขอเป็นกระบอกเสียงให้สตรีไทยในฐานะผู้หญิงที่ไม่ปล่อยผ่านเรื่องอาการปวดท้องน้อยของตัวเอง พร้อมทั้งร่วมรณรงค์ให้สตรีทุกวัยหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองให้มากขึ้น เพราะสุขภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถนำพาร่างกายและตัวเราไปสู่ฝันที่วาดไว้ และสิ่งที่ตั้งใจ ฉะนั้น อย่าลืมหันมาใส่ใจสุขภาพตัวเองให้มากๆ ยิ่งทุกวันนี้ วันที่โลกเราผันแปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ยิ่งทำให้เราต้องดูแลตัวเองให้มากเป็นพิเศษด้วย และที่สำคัญหากมีอาการปวดท้องน้อยอย่าปล่อย ทั้งนี้ สามารถติดตามรับชมคลิปรณรงค์ต้านภัยโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ #ปวดท้องน้อยอย่าปล่อยผ่าน จากนักแสดงสาวสวย ออม-สุชาร์ มานะยิ่ง ได้เร็วๆนี้ ทางช่อง Youtube CRA Chulabhorn Channel และ Facebook โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นภาวะที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ดังนั้น หากมีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง อย่านิ่งนอนใจ แนะนำเข้ารับการปรึกษาแพทย์และเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง หรือสามารถทำนัดเพื่อปรึกษาแพทย์และตรวจวินิจฉัยได้ที่ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ชั้น 9 อาคารศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยาจุฬาภรณ์ เปิดบริการทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.00 - 20.00 น. และ เสาร์ - อาทิตย์ เวลา 08.00 - 16.00 น. ผ่านทาง LINE Official @chulabhornhospital เลือกเมนู ศูนย์การรักษา>เลือกศูนย์สุขภาพสตรี และคลิกปุ่ม Chat คุยกับศูนย์ รวมทั้งสามารถติดตามข่าวสารบทความสุขภาพได้ผ่านทางเว็บไซต์ www.chulabhornchannel.com