กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อใช้ประโยชน์ในแต่ละชนิด ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ มากมาย โดยต้องลงทุนทั้งในด้านงบประมาณ เวลา ทรัพยากรมนุษย์ ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และที่สำคัญตามมาด้วยปัญหาทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลกระทบจากกระบวนการผลิต
จะดีกว่าไหม หากสามารถลดขั้นตอนของกระบวนการผลิตลงให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียว แถมยังได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า คุ้มราคา ตลอดจนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลตา ยศแผ่น อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "นักเคมีอินทรีย์" ผู้มีที่มาจากความหลงใหลในวิชาเคมีตั้งแต่วัยเยาว์
โดยเริ่มต้นจากการชอบทำอาหาร จนสามารถนำส่วนผสมต่างๆ มาพลิกแพลงเป็นเมนูใหม่ๆ พอได้มาสัมผัสกับชั้นเรียนวิชาเคมี ที่ได้มีโอกาสทดลองผสมสารเคมีที่มาจากสารตั้งต้นต่างๆ จนได้สารเคมีชนิดใหม่ ซึ่งมีหลักการคล้ายกับการทำอาหาร แต่สารเคมีชนิดใหม่ที่ได้จะสามารถนำไปต่อยอดประยุกต์ใช้ได้อีกมากมายมหาศาล
หนึ่งในผลงานที่ภาคภูมิใจ คือ การค้นพบสารเคมีชนิดใหม่ โดยใช้เทคนิค "Carbon-Hydrogen Bond Functionalization" หรือ "C-H Functionalization" ที่สามารถเปลี่ยนพันธะคาร์บอนที่อยู่ในสารอินทรีย์ เพื่อให้เกิดสารเคมีชนิดใหม่ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่ต้องการ โดยการเติมสารบางอย่าง ซึ่งอาจเป็นโลหะ เกลือ หรือสารเหนี่ยวนำบางอย่าง เข้าไปทำปฏิกิริยาเพื่อทำให้พันธะของคาร์บอนที่แข็งแกร่งนั้นอ่อนตัวลงในขั้นตอนเดียว
ตัวอย่างการใช้เทคนิค "C-H Functionalization" ได้แก่ การนำยาแก้ปวดลดไข้ชนิดหนึ่ง ซึ่งหาได้ทั่วไปตามท้องตลาด และมีราคาไม่สูงนัก มาเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมี เพื่อทำให้ได้ยาใหม่ โดยพบว่าสามารถลดต้นทุนการผลิต และประหยัดเวลา จากการเริ่มต้นใหม่เพื่อการค้นพบยาใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานนับทศวรรษ
จากผลงานวิจัยดังกล่าวของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลตา ยศแผ่น ทำให้กระบวนการ "C-H Functionalization" ได้กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับแนวคิดเพื่อการสังเคราะห์สารเคมีที่ยั่งยืน
โดยผู้วิจัยหวังให้การค้นพบดังกล่าวจุดประกายให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เป็นแนวทางในการทำวิจัยที่ "คิดเป็น วิเคราะห์เป็น แก้ปัญหาเป็น" และเห็นความสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อการต่อยอดพัฒนาประเทศต่อไปได้ในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th