จุฬาฯ เผยความสำเร็จ CU SiHub บ่มเพาะอาจารย์นักวิจัยและนิสิตจุฬาฯ ขับเคลื่อนงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ร่วมสร้างนวัตกรรมทางสังคม ผลักดันสู่ภาคธุรกิจและ Social Enterprise เพื่อพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน
เมื่อเอ่ยถึงนวัตกรรม หลายคนคงจะนึกถึงสิ่งประดิษฐ์ AI ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งหลาย แต่จริงๆ แล้ว ยังมีนวัตกรรมอีกรูปแบบหนึ่ง "นวัตกรรมทางสังคม" ที่ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก แต่ก็สำคัญต่อการพัฒนาประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รองศาตราจารย์ ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกำกับดูแลศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความหมายและความสำคัญของนวัตกรรมทางสังคมว่า "นวัตกรรมทางสังคมอาจจะไม่ใช่ชิ้นงานที่จับต้องได้ แต่เป็นวิธีการ แนวคิด และกระบวนการคิดในรูปแบบใหม่ ที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อสังคม ตอบโจทย์สังคมได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนสังคมหรือชุมชนดีขึ้น"
จุฬาฯ เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDG (Sustainable Development Goals) จึงได้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Social Innovation Hub (CU SiHub) ในปี 2563 เพื่อให้เป็นศูนย์รวมอาจารย์นักวิจัยสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ควบคู่ไปกับ CU Innovation Hub (CU iHub) ที่เป็นศูนย์รวมงานวิจัยนวัตกรรม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมจะเป็นสายวิทยาศาสตร์ที่มีศักยภาพพัฒนาในภาคธุรกิจและเป็น Start up
"ศูนย์ฯ นี้ เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นักวิจัยและนิสิตจากทุกศาสตร์ทุกสาขา ที่สนใจในการพัฒนาชุมชนและสังคม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างนวัตกรรมทางสังคมเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนและสังคมให้ดีขึ้น และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน"
CU SiHub กับบทบาทหนุนนักวิจัยสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์
นอกจากศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคม จุฬาฯ (CU SiHub) จะเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับอาจารย์นักวิจัยและนิสิตที่สนใจนวัตกรรมทางสังคมแล้ว ศูนย์ฯ ยังเน้นสนับสนุนโครงการวิจัยให้สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการพัฒนาชุมชนให้ได้ผลจริงและอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนการสร้างรายได้ให้เป็นทุนหมุนเวียนกับกลุ่มวิจัยและคนในชุมชน
"รายได้อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอาจมาจากเงินบริจาค เช่น การระดมทุน (Crowd funding) หรือเงินจากบริษัทที่สนับสนุนงาน CSR อีกส่วนอาจมาจากการขายนวัตกรรมสินค้าและ/หรือบริการจากโครงการวิจัยเอง ยกตัวอย่างโครงการวิจัยท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ จ.น่าน ที่จัดทัวร์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้" รศ.ดร.พรรณี กล่าว ทั้งนี้ ศูนย์ฯ แบ่งกลุ่มงานวิจัยทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ที่ให้การสนับสนุนออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ นวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชน และนวัตกรรมทางสังคมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม
นวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชน
ในด้านนวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชน ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมจุฬาฯ จะสนับสนุนเงินทุน หรือ seed fund ให้นักวิจัยเพื่อนำเอานวัตกรรมลงไปใช้กับชุมชน หลังจากนั้น กลุ่มวิจัยสามารถใช้ผลงานเป็น showcase สำหรับการนำไปต่อยอด หรือขอรับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมหรือแสวงหาความร่วมมือจากภายนอกเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องต่อไปในอนาคต อันจะทำให้เกิดผลกระทบทางสังคมที่มีต่อชุมชนต่อไป
"ตัวอย่างงานวิจัยเรื่อง "ผัดไทย" ของศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา นักวิจัยได้สร้างเป็นภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ผัดไทย: สูตรลับลิขิตฝัน" และสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ได้นำไปเผยแพร่ นอกจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้นำไปเข้าฉายในงาน The Montanosa Film Festival (MFF) เมื่อ 19-27 มีนาคมที่ผ่านมา ณ ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อร่วมขับเคลื่อน Soft Power ด้านวัฒนธรรมอาหารไทยสู่เวทีระดับโลกผ่านสื่อบันเทิง ซึ่งนอกจากเรื่องผัดไทยแล้ว ล่าสุด สถานีโทรทัศน์ Thai PBS ก็ได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันเอเชียศึกษาเพื่อทำงานต่อในเรื่องอื่นๆ ด้วย" รศ.ดร.พรรณี กล่าว
นอกจากผลงานวิจัยเรื่อง "ผัดไทย" แล้ว CU SiHub สนับสนุนนวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชนที่ อีกหลายชิ้น ได้แก่
ผลงานนวัตกรรมทางสังคมสู่ชุมชน | งานวิจัย | หัวหน้ากลุ่มวิจัย | |
1. | สอนการเขียนบทละครและการแสดงละครให้นักเรียนในชุมชนให้มีความคิดสร้างสรรค์ | สร้างนวัตกรรมทางสังคมด้วยศิลปะการละคร การพัฒนานักการละครและสร้างสื่อต้นแบบไปสู่การสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ผ่านครูและนักเรียนที่โรงเรียน | ศ.พรรัตน์ ดำรุง คณะอักษรศาสตร์ |
2. | ภาพยนตร์ตอนทดลอง 3 เรื่อง "มวยไทย" "จักสานย่านลิเภา" "ประเพณีผีตาโขน" | การส่งออกวัฒนธรรมไทย ผ่านสื่อบันเทิง การนำผลงานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยมาสร้างเป็นบทละครเพื่อให้เกิดการรับรู้สู่สาธารณะและเข้าใจคุณค่าวัฒนธรรมไทยในรูปแบบใหม่ | ดร.ดลยา เทียนทอง ศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคมสถาบันเอเชียศึกษา |
3. | ตามสั่ง-ตามส่ง | ตามสั่ง-ตามส่ง: นวัตกรรมทางสังคมเพื่อเศรษฐกิจสมานฉันท์ การพัฒนาชุมชนสมานฉันท์ผ่านแพลตฟอร์ม Food Delivery ที่ดำเนินงานโดยชุมชนเพื่อชุมชน ซึ่งปัจจุบันได้มีการขยายไปหลายพื้นที่ | นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา |
4. | ยกระดับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองใน จ.น่าน | การพัฒนาต้นแบบการผลิตไก่พื้นเมืองโดยวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าและกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสำหรับวิสาหกิจชุมชน กระบวนการการพัฒนายกระดับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองของเกษตรกรรายย่อย และถ่ายทอดความรู้พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ | ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร |
5. | แพลตฟอร์มนำเสนอบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ | แผนที่เศรษฐกิจชุมชนแบบดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสร้างขีดความสามารถสำหรับผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม แพลตฟอร์มนำเสนอบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่ | ผศ.ดร.รัตติยา ภูละออวิทยาลัยประชากรศาสตร์ |
นวัตกรรมทางสังคมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)
การส่งเสริมนวัตกรรมทางสังคมสู่การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) นับเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญและเป็นเสน่ห์ของ CU SiHub ที่ทำให้นักวิจัยสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์เห็นว่าความรู้ด้านนี้ก็พัฒนาสู่โลกธุรกิจได้
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมการฝึกอบรม (Coaching) 2 หลักสูตรด้วยกันสำหรับอาจารย์นักวิจัยและสำหรับนิสิต เพื่อบ่มเพาะการออกแบบโมเดลธุรกิจ โดยเนื้อหาในหลักสูตรเน้นที่วิธีคิดและทักษะ อาทิ
- คิดและเข้าใจปัญหาสังคมที่ต้องการแก้ไขคืออะไร
- มีใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องบ้าง?
- การใช้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) ทดสอบว่านวัตกรรมดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
- กระตุ้นให้เกิดการคิดอย่าง Critical thinking คิดนอกกรอบ
"หลังจากการอบรมโมเดลธุรกิจแล้ว ศูนย์ฯ ก็จะจัดงาน Pitch Deck ให้นิสิตและกลุ่มวิจัยมานำเสนอโมเดลธุรกิจของตัวเองและเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาให้ความเห็นเพื่อพัฒนางานนั้นๆ ก่อนจะนำโมเดลทางธุรกิจเพื่อสังคมไปทดสอบสนามจริงในโครงการทดสอบต้นแบบนวัตกรรมทางสังคม" รศ.ดร.พรรณี อธิบาย
ที่ผ่านมา CU SiHub ได้บ่มเพาะและสนับสนุนนักวิจัย รุ่นที่ 1 จนเกิดเป็นนวัตกรรมทางสังคมสู่ธุรกิจเพื่อสังคม 7 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการทดสอบต้นแบบโมเดลธุรกิจ ได้แก่
โมเดลธุรกิจเพื่อสังคม | รายละเอียด | หัวหน้ากลุ่มวิจัย | |
1. | Data Journalism: Data Telling Platform | แพลตฟอร์มการพัฒนาคนและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการสื่อสารผ่านข้อมูลและการไตร่ตรองของสังคม | รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล คณะนิเทศศาสตร์ |
2. | Cuddle: The Storytelling Academy | แพลตฟอร์มการพัฒนาบุคลากรด้าน Storytelling และเชื่อมโยงกับภาคเอกชน | ผศ.ดร.ปริดา มโนมัยพิบูลย์ ภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ |
3. | Tamsang-Tamsong: Social and Solidarity Economy Platform | แพลตฟอร์ม Food Delivery ที่เน้นการสร้างอาชีพและความสมานฉันให้แก่ชุมชน | นายอรรคณัฐ วันทนะสมบัติ สถาบันเอเชียศึกษา |
4. | CU Let's go: The Local Experience Tourism | แพลตฟอร์มส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนสร้างสรรค์เชิงประสบการณ์ | ผศ.ดร.ฐิติรัตน์ ปั้นบำรุงกิจ ภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ |
5. | CU PGS Nan: The Sustainable PGS Farming | การคืนสภาพพื้นที่ป่าต้นน้ำด้วยระบบเกษตรยั่งยืนเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตครัวเรือนเกษตรกร | ผศ.ดร.ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร |
6. | CU Farm: The Sustainable Livestock Farming | ระบบฟาร์มยั่งยืนเสริมสร้างอาชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร | ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร |
7. | EduPACT: The Art Education for Impact | การออกแบบและใช้สื่อศิลปะเพื่อการบรรเทาและลดสภาวะที่มีผลกระทบทางจิตใจของกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ | ผศ.ดร.อินทิรา พรมพันธุ์ คณะครุศาสตร์ |
ทิศทางอนาคตนวัตกรรมทางสังคมเพื่อความยั่งยืน
แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้ทำให้คำว่า "นวัตกรรมทางสังคม" อยู่ในใจประชาคมจุฬาฯ
"จำนวนอาจารย์ นักวิจัย และนิสิตจากหลากหลายคณะในจุฬาฯ สมัครเข้าร่วมการอบรมมากขึ้นเกือบเท่าตัว จากรุ่นแรกที่มีผู้เข้าร่วม 7 กลุ่มงานวิจัย แต่ในรุ่นที่ 2 ที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ มีผู้สนใจสมัครมากถึง 12 กลุ่มงานวิจัย เราอยากให้ทุกคนรู้จักและสนใจเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้สร้างนวัตกรรมทางสังคมร่วมกันในพื้นที่นี้มากขึ้น"
รศ.ดร.พรรณี กล่าวทิ้งท้ายว่าในปีนี้ ศูนย์ฯ จะจัดนิทรรศการหรือกิจกรรมให้ผู้ที่สนใจเข้ามาใช้พื้นที่ศูนย์ฯในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น และในอนาคต ก็มีแผนจัดอบรมความรู้ด้านนวัตกรรมทางสังคมที่เป็น best practice จากนักวิจัยหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการประเมินผลกระทบทางสังคมให้กับอาจารย์นักวิจัยและนิสิตจุฬาฯ โดยจะเน้นงานวิจัยหรือนวัตกรรมทางสังคมที่ตอบโจทย์การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน SDG (Sustainable Development Goals)
ศูนย์กลางนวัตกรรมทางสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
CU Social Innovation Hub - CU SiHub
ชั้นล่าง อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อีเมลติดต่อ sihub@supawich-cchula-ac-th.th