สินิตย์ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย หลังยอดส่งออกทะลุ 8 หมื่นล้านบาท รับการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 9, 2022 14:02 —ThaiPR.net

สินิตย์ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย หลังยอดส่งออกทะลุ 8 หมื่นล้านบาท รับการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ

จับตาการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย ระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ในรูปของเงินบาท เติบโตสูงถึงร้อยละ 190.29 มีมูลค่า 213,709.89 ล้านบาท เป็นสินค้าส่งออกในอันดับที่ 3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.71 ของสินค้าส่งออกโดยรวมของไทย ซึ่งหากนำมูลค่าดังกล่าวข้างต้นหักออกด้วยการส่งออกทองคำที่ยังมิได้ขึ้นรูป พบว่า การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงในรูปของเงินบาท มีมูลค่า 83,016.88  ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 54.57

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหลังจากภาวะวิกฤติโควิดเริ่มคลี่คลายตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยก็กลับมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งยอดการส่งออกไปยังประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้ง สหรัฐอเมริกา ยุโรป อินเดีย และอาเซียน รวมถึงการเปิดประเทศ และ การกลับมาของนักท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลดีต่อกำลังซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ ของฝาก รวมถึงเครื่องประดับ

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับถือได้ว่าเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ก่อให้เกิดเม็ดเงินจำนวนมากทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างแรงงานฝีมือจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อุปทาน อย่างไรก็ตามเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมาก ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ดังนั้นเมื่อภาวะดังกล่าวคลี่คลายลง ยอดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบประเทศไทย ทำให้ยอดการส่งออกและการค้าภายในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) ในระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2565 ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญได้สูงขึ้น โดยเฉพาะตลาดหลักทั้ง 5 อันดับแรก อย่างสหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ล้วนขยายตัวได้ดีร้อยละ 38.21, ร้อยละ 131.10,  ร้อยละ 4.36, ร้อยละ 12.65 และร้อยละ 221.20 ตามลำดับ

และเมื่อแยกพิจารณาการส่งออกในรายผลิตภัณฑ์สำคัญระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2565 พบว่า เพชรเจียระไน พลอยเนื้อแข็งและพลอยเนื้ออ่อนเจียระไน สามารถเติบโตได้ร้อยละ 83.82, ร้อยละ 89.55 และร้อยละ 68.34 และการส่งออกเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเทียม ก็มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.12, ร้อยละ 56.55  และร้อยละ 44.47

ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน จึง ได้มอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT  เร่งเดินหน้ากิจกรรม และ โครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและเป็นเลิศให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ได้แก่ โครงการจัดทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับประเทศ เพื่อยกระดับมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้เทียบเท่าสากล  โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาค ทั้งด้านฝีมือแรงงานและผลิตภัณฑ์ โดย GIT ได้ลงพื้นที่พัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีเครื่องประดับรายย่อยในภูมิภาคต่างๆ โดยนำอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาผสมผสานในการออกแบบ เช่น โครงการมาเหนือ อีสานมอร์เดิ้น โดยได้สร้างโอกาสในการขยายช่องทางจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ อาทิ eBay, Alibaba และ Shop Channel ซึ่งเป็นการพัฒนาและขับเคลื่อนอัญมณีและเครื่องประดับในทุกมิติ ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างยั่งยืน ในฐานะที่ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ