รมว.สุชาติ หารือ 'กาย ไรเดอร์' กระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างไทย - ไอแอลโอ

ข่าวทั่วไป Friday June 10, 2022 09:22 —ThaiPR.net

รมว.สุชาติ หารือ 'กาย ไรเดอร์' กระชับความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างไทย - ไอแอลโอ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน Ms.Chihoko Asada - Miyakawa ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่และผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เข้าพบ นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ ณ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เพื่อหารือข้อราชการด้านแรงงานและแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การฯ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) เป็นต้นมา และได้กระชับความสัมพันธ์มาอย่างแน่นแฟ้นยาวนานเรื่อยมา

นายสุชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานขอขอบคุณคุณกายไรเดอร์ (Mr. Guy Ryder) ที่สละเวลาให้เข้าพบในวันนี้ ซึ่งตั้งแต่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้งองค์การฯ มาตั้งแต่ พ.ศ.2462 ได้เกิดความร่วมมือจากไอแอลโอที่ส่งเสริมและผลักดันโครงการต่างๆ ร่วมกับประเทศไทยมาเป็นอย่างดีโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องงานที่มีคุณค่า (Decent Work) ที่ประเทศไทยได้ประกาศแผนฉบับแรกเมื่อปี 2562 ซึ่งในปีนี้คณะกรรมการไตรภาคีขับเคลื่อนการดำเนินงานฯ ได้เห็นชอบให้ขยายเวลาดำเนินการจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทย อีกทั้งยังเห็นชอบร่างแก้ไขหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ที่จะเสนอในที่ประชุมใหญ่รับรอง ซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญ เนื่องจากเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในการทำงาน จึงสนับสนุนแนวคิดที่จะเพิ่มประเด็นความปลอดภัยเข้าเป็นหนึ่งในหลักการว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของไอแอลโอ ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 187 เรียบร้อยแล้ว และจะดำเนินการต่อไปเพื่อรองรับประเด็นดังกล่าวด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของไอแอลโอ ทางด้านการสนับสนุนทางวิชาการ ประเทศไทยเล็งเห็นความสำคัญของความคุ้มครองทางสังคม (Social Protection) จึงได้สนับสนุนเงินทุนให้ไอแอลโอดำเนินโครงการคณิตศาสตร์ประกันภัยเพื่อปฏิรูประบบในไทยให้มีความเพียงพอและยั่งยืน มีกิจกรรมขยายผลให้ประเทศในอาเซียนได้รับประโยชน์ด้วย ระยะเวลาโครงการ 4 ปี และจะสิ้นสุดปลายปีหน้า 2566

รมว.แรงงาน ยังกล่าวถึงบทบาทของกระทรวงแรงงานในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้การรักษาพยาบาลและการบริการด้านสุขภาพที่เท่าเทียมกันแก่คนงานทุกคนโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ เป็นผลให้คนงานสี่ล้านคนสามารถรับวัคซีนจากกระทรวงแรงงานได้ โครงการรักษางานสำหรับ SMEs สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กสี่แสนราย รักษางานได้ 5 ล้านตำแหน่ง และช่วยให้ผู้หางานหกหมื่นคนสามารถหางานใหม่ได้ โครง Factory Sandbox ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มใหม่ที่ผสมผสานแนวคิดในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในขณะที่ยังคงรักษามาตรการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ มีการตรวจ PCR กักกัน รักษา และฉีดวัคซีนฟรีสำหรับโรงงานที่เข้าร่วม โครงการดังกล่าวช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินการผลิตได้ต่อไป โดยสามารถจ้างงานได้มากกว่า 4 แสนตำแหน่ง และถือเป็นมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานมีการส่งเสริมให้สถานประกอบการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยฉพาะในประเด็นด้านแรงงาน อย่างสอดคล้องกับปฎิญญา MME โดยมีการสร้างกลไกของมาตรฐานแรงงานไทย (Thai Labour Standard: TLS) และแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLPs) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากไอแอลโอเป็นอย่างดีในการพัฒนา และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ของกระทรวงยุติธรรม มีบทเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องแรงงาน ที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในทุกบริบท โดยเชื่อมโยงกับปฏิญญาว่าด้วยบรรษัทข้ามชาติและนโยบายสังคม (MNE Declaration) ของไอแอลโอ ซึ่งกำหนดให้วิสาหกิจที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จะต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบอีกด้วย

ในช่วงท้าย รมว.แรงงาน ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันสัตยาบันอนุสัญญา ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม โดยไม่เลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์และร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ในรัฐวิสาหกิจ โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาเสร็จสิ้น และได้เผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว และได้จัดส่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยืนยันร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับ ซึ่งกรมได้ยืนยันร่างฯ เรียบร้อยแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้นำความคิดเห็นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา เพื่อออกเป็นกฎหมายต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ