กสร. ผลักดันเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองพนักงานจ้างเหมาในหน่วยงานรัฐ

ข่าวทั่วไป Friday June 10, 2022 17:32 —ThaiPR.net

กสร. ผลักดันเสนอร่างกฎหมายคุ้มครองพนักงานจ้างเหมาในหน่วยงานรัฐ

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตรียมผลักดันเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองพนักงานจ้างเหมาบริการของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการที่เป็นธรรมเช่นเดียวกับลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร) เปิดเผยถึงกรณีที่สภานักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการแรงงาน ขอให้ตรวจสอบกรณีพนักงานทำความสะอาดและพนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัย ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการไม่เป็นไปตามกฎหมาย ว่า กรณีดังกล่าว หากข้อเท็จจริงพบว่าพนักงานทำความสะอาดและพนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทำงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการจ้างงานโดยตรงของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งถือเป็นลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ มหาวิทยาลัย ไม่ได้อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงไม่สามารถนำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไปบังคับใช้ได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะกำหนดระเบียบ หรือข้อบังคับ ออกมาบังคับใช้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายเฉพาะของตน อย่างไรก็ตาม กสร. ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือละเลยลูกจ้างกลุ่มดังกล่าว โดยที่ผ่านมา กสร. ได้ดำเนินการตั้งคณะทำงานศึกษาเกี่ยวกับการพิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลทางวิชาการนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้พนักงานจ้างเหมาบริการของส่วนราชการ หน่วยงานรัฐได้รับสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการที่เป็นธรรมเช่นเดียวกับลูกจ้างตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โดยจะเร่งรัดผลักดันเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี และจะจัดประชุมคณะทำงานฯ ในวันที่ 29 มิถุนายน 2565

อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานในสังกัดให้รับทราบและถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 โดยให้ดำเนินการจ้างงานให้ถูกต้องตามประเภทของงาน และพิจารณาตามวัตถุประสงค์ของการจ้างงานเป็นสำคัญ ตลอดจนกำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งนี้ หากลูกจ้างมีข้อสงสัยว่าเป็นลูกจ้างภายใต้การคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 หรือไม่ สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 หรือโทรศัพท์สายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ