บีโอไอเสนอ 8 มาตรการรับนโยบาย”ปีแห่งการลงทุนไทย” หวังกระตุ้นความเชื่อมั่นนักลงทุน-ยกระดับความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรม

ข่าวทั่วไป Thursday March 20, 2008 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ เสนอ 8 มาตรการหลัก ร่วมผลักดันนโยบาย “ปีแห่งการลงทุนไทย” หวังเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมยกระดับความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทย เตรียมปรับปรุงประเภทกิจการ-มาตรการภาษี จูงใจผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีให้ทันสมัย
นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบต่อแนวทางของบีโอไอ ในการดำเนินมาตรการตามนโยบาย “ปีแห่งการลงทุนไทย”(Thailand Investment Year) ระหว่างปี 2551-2552 เพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย กระตุ้นให้ผู้ประกอบการเดิมปรับตัวเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย
โดยที่ประชุมเห็นชอบตามมาตรการที่ใช้ในการดำเนินการในช่วงดังกล่าว ซึ่งจะผสมผสานการลงทุนทั้งเพื่อตลาดภายในและต่างประเทศ แบ่งเป็น 8 แนวทางหลัก ได้แก่
1. การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมที่ประเทศมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมที่มี Value Creation
2. สร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และพลังงานทดแทน โดยบีโอไอ จะปรับปรุงประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริม ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 140 ประเภท เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับตัวไปสู่การเพิ่มมูลค่า และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น
3. ส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเขตอุตสาหกรรมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์น ซีบอร์ด) และพื้นที่อื่นที่เหมาะสม รวมถึงผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นคุณภาพสูง เพื่อรองรับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต
4.ส่งเสริมการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และแก้ไขปัญหาของภาคอุตสาหกรรม โดยเสนอมาตรการจูงใจด้านภาษีอากร เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย ภายในช่วงเวลาที่กำหนด
5. ส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะจัดตั้ง Investment Support Center ในประเทศเป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์ประสานการเชื่อมโยงธุรกิจแก่นักลงทุนไทยที่ทำธุรกิจในประเทศเป้าหมาย
6. ชักจูงการลงทุนเชิงรุก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดคณะชักจูงการลงทุน เดินทางไปพบปะกับนักลงทุนชั้นนำในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เป็นต้น และดำเนินการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในประเทศเป้าหมายเพิ่มเติม อีก 6 แห่ง ได้แก่ โซล ไทเป ปักกิ่ง กวางโจว ซิดนีย์ และสต๊อกโฮล์ม
7. ปรับปรุงการให้บริการ และมาตรการต่าง ที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเตรียมที่จะจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมศุลกากร กรมสรรพากร เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย ตลอดจนปรับปรุงการให้บริการในด้านต่างๆ ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนให้สะดวกรวดเร็วขึ้น
8. จัดตั้ง “กองทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและการลงทุน” โดยสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรไปสู่เทคโนโลยีที่ทันสมัย การเพิ่มประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงาน การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และการฝึกอบรมบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ