กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สปสช.
“สปสช.” เผย ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง ยอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 55 คน ต่อวัน “มีชัย” ตีฆ้อง ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในไทย วิกฤติสุดขีด ออกโรงเตือน เยาวชน วัยรุ่น โดยเฉพาะชายชอบชาย ใน หัวเมืองใหญ่ ย้ำ มีเซ็กซ์ต้องสวมถุงยาง เหตุภาวะเสี่ยงเพียบ
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรมประชาสัมพันธ์ และคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์ ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์ ร่วมกัน จัดงานแถลงข่าวสถานการณ์ปัญหา และแนวทางการรณรงค์แก้ไขปัญหา พร้อมเปิดตัวโครงการ “รู้รัก.....รู้ปลอดภัย” โดยมี นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และ นพ.วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) แถลงข่าวร่วมกัน
นายมีชัย วีระไวทยะ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV ประมาณ 500,000 คน โดยในแต่ละวันประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิดขึ้นประมาณวันละ 55 คน เฉลี่ย ชั่วโมงละ 2 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์แทบทั้งสิ้น เรียกได้ว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในประเทศอยู่ในระดับที่เรียกว่าวิกฤติ โดยทวีความรุนแรงออกไปยังกลุ่มทั้งที่เป็นเยาวชน และกลุ่มวัยทำงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย
จากการสำรวจเมื่อปี 2549 ในกลุ่มอายุ 15 — 29 ปีพบว่า คนที่มีอาชีพพนักงานบริษัทใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพียงร้อยละ 9 กับคู่รัก และร้อยละ 40 กับคนที่รู้จักผิวเผิน ส่วนนักเรียนมัธยมและนักศึกษาใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเพียงร้อยละ 13 กับคู่รัก และ ร้อยละ 52 กับคนที่รู้จักผิวเผิน แสดงให้เห็นกลุ่มคนเหล่านี้กำลังก้าวเข้าไปใกล้เอดส์ขึ้นทุกขณะ เพราะการเปลี่ยนคู่นอนและการไม่ใช้ถุงยางอนามัยเพียงครั้งเดียวก็สามารถติดเชื้อเอดส์ได้
ทั้งนี้เยาวชน และผู้ใหญ่จึงต้องมีสติ สามารถประเมินความเสี่ยงที่มีต่อการติดเชื้อHIV ได้ด้วยตนเอง โดยต้องจำไว้อยู่ทุกครั้งว่า คุณมีโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์นั้น เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ HIV ได้ด้วยเช่นเดียวกัน - คุณมีเพศสัมพันธ์แบบไหนก็เสี่ยงได้ ถ้าไม่ป้องกัน - คุณมีโอกาสเสี่ยงรับเชื้อHIVได้ในครั้งใด ครั้งหนึ่งของการมีเพศสัมพันธ์ — คุณมีโอกาสเสี่ยงถ้าใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น - คุณไม่สามารถบอกได้ว่าใครมีเชื้อ HIV จากการดูรูปลักษณ์ ภายนอก
“ ผมอยากให้ประโยคที่ว่า “เอดส์ใกล้ตัวกว่าที่คิด แต่เราป้องกันได้” ไม่เป็นเพียงแค่ประโยคที่ใช้ตักเตือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องนำมาสร้างให้เป็นรูปธรรมเพื่อลดปัญหาเอดส์ในสังคมให้เกิดผลมากที่สุด จึงเป็นที่มาของโครงการ “รู้รัก....รู้ปลอดภัย” ที่มุ่งเน้นเร่งให้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เยาวชนกลุ่มเสี่ยงทั้งประเทศในโรงเรียน ชุมชน และในที่ทำงานให้ตระหนักถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ในปัจจุบัน ปรับให้เยาวชนมีทัศนคติที่ถูกต้อง และเหมาะสมในการป้องกันเอดส์ อันจะนำไปสู่บริหารจัดการความเสี่ยงทางเพศของตนเองได้อย่างปลอดภัย” นายมีชัย กล่าว
นายแพทย์วินัย สวัสดิวร รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะรักษาการเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า การเพิ่มขึ้นของตัวเลขผู้ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งจากผลการเก็บข้อมูลตัวเลข ทำให้ทราบว่าปัจจุบันมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อถึง 55 คน ต่อวัน ทำให้งบประมาณในการดูแลและให้บริการผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น โดยสปสช.ได้ ตั้งกองทุนเพื่อบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยจะเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้เป็นต้นไป งบประมาณ 18 ล้านบาท โดยได้ร่วมกับสภาการพยาบาล จัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลในโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกแห่ง จำนวน 1,050 คน ให้มีความรู้ความสามารถทันกับองค์ความรู้ด้านการดูแลผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีระยะฝึกอบรม 2 ปี เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้รับการดูแลที่มีคุณภาพและเกิดผลลัพธ์ที่ดีในการรักษา รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อต่อไป
“ สถิติการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ถือเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาช่วยกันขับเคลื่อน ในการป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ถือเป็นแนวทาง นโยบายที่ควรถูกต้องนำมาปฏิบัติอย่างเร่งด่วน ที่สำคัญต้องสื่อสารให้ถึงกลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไป ได้ทราบถึง ความเสี่ยงในการติดเชื้อว่าสามารถขยายผลอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ทีมีความหลากหลาย” นพ. วินัย กล่าว
ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ “ รู้รัก...รู้ปลอดภัย
โครงการ “ รู้รัก.....รู้ปลอดภัย” ภายใต้การดูแล สปสช. และคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์ ภายใต้คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงในการกระตุ้นเยาวชนให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาโรคเอดส์ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ รวมทั้งผ่านแกนนำเยาวชนอาสาสมัครเพื่อทำความเข้าใจกับกลุ่มเยาวชนด้วยกัน โดยเน้นข้อความที่เยาวชนสามารถจำจดได้ง่าย ๆ 3 ข้อได้แก่ 1. เข้าใจ 2. เก็บไว้ (ในกางเกง กระโปรง ไม่ต้องรีบ) และ 3. ใส่ถุงยาง
ในปัจจุบันคณะอนุกรรมการกำกับการขับเคลื่อนการปฏิบัติการป้องกันโรคเอดส์โดยมี นายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และรองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นรองประธานฯ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาสังคม เยาวชน และเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV ร่วมกันกำกับ ดูแล โดยได้รับงบประมาณป้องกันโรคเอดส์ 500 ล้านบาทสำหรับปี 2550 — 2551 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เป้าหมายของคณะอนุกรรมการฯ คือลดการติดเชื้อ HIV รายใหม่ลงครึ่งหนึ่งภายใน 3 ปีข้างหน้า และลดการติดเชื้อ HIVรายใหม่ในกลุ่มเยาวชน โดยอาศัยกลยุทธ์การป้องกันโรคเอดส์ 3 กลยุทธ์ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน และการสร้างกลไกความร่วมมือ และความเป็นเจ้าของจังหวัด รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิการผลิตเอกสารหรือให้ทุนสนับสนุนกิจกรรมป้องกันโรคเอดส์ของกลุ่มเยาวชน และท้องถิ่น เป็นต้น