เอสซีจี แทคทีมเจนวายสายกรีน กู้วิกฤต 'Climate Change' จัดทริป 'ใคร Make Change - ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง' ลงพื้นที่ปลูก "หญ้าทะเล" ฮีโร่ลดโลกร้อน

ข่าวทั่วไป Tuesday June 14, 2022 10:23 —ThaiPR.net

เอสซีจี แทคทีมเจนวายสายกรีน กู้วิกฤต 'Climate Change'  จัดทริป 'ใคร Make Change - ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง'  ลงพื้นที่ปลูก

"เอสซีจี" ชวนคนรุ่นใหม่หัวใจรักษ์โลกร่วมทริป "ใคร Make Change - ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง" ลงพื้นที่ปลูกหญ้าทะเล ฮีโร่ของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวช่วยกู้วิกฤตโลกร้อนได้มากกว่าการปลูกต้นไม้บนบกสูงสุดถึง 35 เท่า ณ ชุมชนมดตะนอย อ.กันตัง จ.ตรัง แหล่งหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดในไทย ผ่านการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลงมือปลูกกับผู้เชี่ยวชาญและตัวแทนชุมชนที่เป็นตัวจริงด้านการปลูกหญ้าทะเล พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจชวนคนรอบข้างแก้วิกฤตโลกร้อนร่วมกันอย่างยั่งยืน

นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการ Enterprise Brand Management Office เอสซีจี กล่าวว่า "เอสซีจีเชื่อมั่นในพลังคนรุ่นใหม่สายกรีนที่เป็นกำลังสำคัญในการกู้วิกฤตโลกร้อน จึงชวนน้องๆ ร่วมทริป 'ใคร Make Change - ปลูกหญ้าทะเล @ ตรัง' ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ "ปลูก ลด ร้อน" เพื่อร่วมเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการแก้วิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะการปลูกหญ้าทะเล ต้นไม้ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้บนบกชนิดอื่นๆ และช่วยฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ โดยผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้เรียนรู้และปลุกแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาลงมือทำจริงเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกร่วมกัน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ กิจกรรม Learn From The Real เรียนรู้ความสำคัญและความเชื่อมโยงของระบบนิเวศหญ้าทะเล/ป่าโกงกาง และสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปราชญ์ชาวบ้าน และเยาวชนชุมชนมดตะนอยที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ กิจกรรม Grow Your Plant ลงพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลและป่าโกงกางอย่างถูกวิธีเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน กิจกรรม Nature Reconnect สัมผัสวิถีชุมชนชาวเลที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ตลอดจนรับความรู้ในการสื่อสารที่ช่วยส่งต่อพลังให้คนรอบข้างร่วมเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นไปด้วยกัน"

ด้าน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ที่มีประสบการณ์ทำงานองค์กรสิ่งแวดล้อมระดับโลกหลายแห่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา อาทิ IUCN UNDP WWF - กองทุนสัตว์ป่าโลก และ WCS - สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า "ภาวะโลกรวน หรือ Climate Change ที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลกระทบรุนแรง ทำให้เกิดคลื่นความร้อนใต้น้ำ และภาวะทะเลเป็นกรด รวมถึงสภาพอากาศสุดขั้วที่ทำให้เกิดภัยพิบัติบ่อยครั้ง หญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญมากต่อการรักษาความสมดุลของชายฝั่ง และยังช่วยส่งเสริมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนและแนวปะการัง บรรเทาความรุนแรงจากพายุ และช่วยแก้วิกฤติโลกร้อนโดยตรง เพราะหญ้าทะเลสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าเขตร้อนถึง 35 เท่า จนได้ฉายาว่าเป็นคาร์บอนสีน้ำเงิน หรือ Blue Carbon อีกทั้งยังช่วยปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างที่ทราบกันดีว่าหญ้าทะเล คือบ้านของพะยูน สัตว์ทะเลหายาก ตรังถือเป็นเมืองหลวงของพะยูน ที่นี่เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูอย่างถูกวิธี"

นางสาวรสิตา พระคง หรือ น้องซันมา แกนนำกลุ่มเยาวชนมดตะนอย อายุ 16 ปี เล่าถึงการร่วมมือกันดูแลธรรมชาติของคนในชุมชนว่า "หนูเกิดและโตในชุมชนชาวประมงริมทะเล เริ่มปลูกหญ้าทะเลตั้งแต่ 6 ขวบ เพราะแม่ปลูกฝังว่าป่าชายเลน และหญ้าทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และส่งผลต่อการทำประมงของพวกเรามาก พอโตขึ้นมา หนูกับเพื่อนๆ ได้รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเยาวชนบ้านมดตะนอย 30-40 คน มาช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน ปลูกหญ้าทะเล ป่าชายเลน และคอยเก็บขยะตามชายหาดเพื่อให้ชุมชนมีความอุดสมบูรณ์ จะได้มีสัตว์น้ำเยอะๆ พวกหนูภูมิใจมากที่ทำให้ชุมชนอุดมสมบูรณ์ พี่ ป้า น้า อามีความสุข คนในหมู่บ้านได้ทำอาชีพประมงกันต่อไปค่ะ"

นางสาวสุภาพิชญ์ ไชยดิษฐ์ นายโยธิน ทองพะวา และนายภานุวัฒน์ เดชานุภานนท์ สามสมาชิกจากทีม Grow up together เล่าถึงความประทับใจ และสิ่งที่ได้รับจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ "เรา 3 คนมีบทบาทอยู่ในสภาเด็ก และเยาวชนแห่งประเทศไทย เรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญแต่ส่วนมากเน้นการให้ความรู้ น้อยครั้งที่จะได้ลงมือปฎิบัติจริง และไม่เคยรู้เลยว่า หญ้าทะเล มีความสำคัญอย่างไร เลยตัดสินใจสมัครมาร่วมทริป ซึ่งพวกเราได้เรียนรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การปลูกและความสำคัญของหญ้าทะเลที่เป็นเหมือนบลูคาร์บอน (Blue Carbon) นอกจากนี้ เราได้เรียนรู้วิถีชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลโดยมีการปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เช่น การแยกขยะ พวกเราเลยมีความตั้งใจที่จะไปทำนโยบายต่อในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเป็นการปรับเปลี่ยนในเชิงพฤติกรรมให้เยาวชนได้เข้าใจมองเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เรามองว่าสิ่งที่ยากที่สุดคือ การปลูกต้นไม้ในใจคน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือการดูแลโลกมันไม่ได้เป็นการทำเพื่อตัวเองแต่เป็นการทำเพื่ออนาคต การสื่อสารให้เขาเห็นถึงผลกระทบ รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งใกล้ตัวเพื่อให้ได้รู้ว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศมันส่งผลถึงภาพรวมทั้งหมดในระยะสั้นและระยะยาว การได้เรียนรู้ด้วยประสบการณ์จริงก็จะมีส่วนช่วยให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด เหมือนกับพวกเราที่ได้มาร่วมกิจกรรมในทริปนี้"

"วิกฤตโลกร้อนเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขและหันมาใส่ใจการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เอสซีจี ก็เป็นหนึ่งในภาคธุรกิจที่มุ่งดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี (ESG) ตามแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี (มุ่ง Net Zero - Go Green - Lean เหลื่อมล้ำ - ย้ำร่วมมือ ภายใต้ความเป็นธรรม โปร่งใส) โดยมีหนึ่งในเป้าหมาย คือ มุ่ง Net Zero ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ร่วมกันแก้ไขอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงเชื่อว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังและมีจิตใจอนุรักษ์อยู่แล้ว ร่วมสานต่อความมุ่งมั่นกับเอสซีจีให้ขยายไปในวงกว้าง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจชวนผู้คนให้หันมาร่วมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อลดโลกร้อนด้วยการปลูกต้นไม้ คืนความอุดมสมบูรณ์แก่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนให้โลก ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้าง Green Economy เพื่อบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก ตามแนวทาง BCG และการเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 ของไทยด้วย" นางวีนัส กล่าวสรุป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ