ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของคนทั่วโลกและส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ทุกภาคส่วนต้องปรับชีวิตวิถีใหม่ เพื่ออยู่ร่วมกับ COVID-19 อย่างปลอดภัยจากโรคและมีความสุขร่วมกัน เช่นเดียวกับบริษัท ไพโอเนียร์ มอเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ PIMO-ไพโม่ ผู้ประกอบธุรกิจหลักผลิตมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ (Air Conditioning Motor) มอเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป (Induction Motor) เครื่องสูบน้ำ ปั๊มหอยโข่ง มอเตอร์สำหรับสระว่ายน้ำ มอเตอร์สำหรับปั๊มบ้าน (Submersible Pump,Pool Spa Pump and Home Pump) ภายใต้การบริหารงานของ "วสันต์ อิทธิโรจนกุล" กรรมการผู้จัดการ ต้องเผชิญกับผลกระทบจาก COVID-19 พนักงานในบริษัทติดเชื้อมากกว่า 200 คน จากพนักงานทั้งหมด 510 คน แต่ PIMO-ไพโม่ ยังสามารถบริหารงานได้ค่อนข้างดี เนื่องจากเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวไว้ล่วงหน้า ประกอบกับให้พนักงานฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มและบูสเข็มที่ 3 นอกจากนี้ยังปรับมาตรการการป้องกันเข้าสู่ระดับเข้มข้น จึงไม่กระทบต่อสายงานการผลิตและสามารถส่งมอบมอเตอร์ให้แก่ลูกค้าได้ตรงตามเวลา
นายวสันต์ กล่าวว่า PIMO-ไพโม่ เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสิทธิบัตรในการผลิตสินค้ามอเตอร์ชนิดพิเศษ BLDC ซึ่งเป็นสินค้าประเภทมาร์จิ้นสูงกว่าแบบ AC มีตลาดรองรับในสหรัฐ เนื่องจากช่วยประหยัดไฟได้มากกว่าถึง 40% และสหรัฐฯ ได้อนุมัติกฎหมายข้อบังคับว่าตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ห้ามจำหน่ายมอเตอร์ AC
ปัจจุบัน PIMO-ไพโม่ มีออเดอร์ล่วงหน้าแล้ว 8 เดือน โดยเป็นออเดอร์จากลูกค้าต่างประเทศในกลุ่มมอเตอร์ไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศและมอเตอร์ชนิดพิเศษ จึงคาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 2/2565 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมาและเป้าหมายรายได้ทั้งปี 2565 ยังคงไว้ที่ 1,200 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2564 ที่ทำได้ 1,030.58 ล้านบาท
"ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ในปีนี้มาจากจำนวนลูกค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยสัดส่วนยอดขายจากต่างประเทศจะอยู่ที่ 60% และในประเทศ 40% มาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนให้ใช้รถ EV จากการศึกษาข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนรถจักรยานยนต์ทั้งคัน PIMO-ไพโม่ ไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง แต่น่าจะเป็นประโยชน์ทางอ้อมให้คู่ค้าของเรา สามารถขายของได้มากขึ้นและจากประสบการณ์ของพนักงานที่ผลิตมอเตอร์ BLDC ก็จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้การผลิตมอเตอร์ EV สำหรับรถจักรยานยนต์สามารถทำได้ง่ายขึ้น" นายวสันต์ กล่าว
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา PIMO-ไพโม่ ได้มีการออกแบบอุปกรณ์หยิบจับและระบบความคุม เพื่อใช้ทำงานร่วมกับโรบอท ใน 2 สายการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมคุณภาพให้สูงขึ้นได้แก่ แผนกฉีดอลูมิเนียมและแผนกเชื่อมชิ้นส่วนมอเตอร์ ด้วยฝีมือของบุคลากรภายในของบริษัทเอง
จากนี้คงต้องจับตามองการเจริญเติบโตของ PIMO-ไพโม่ หลังออเดอร์ล้นและได้รับปัจจัยบวกจากกระแสรถ EV ที่กำลังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง PIMO-ไพโม่ เองมีพนักงานที่มีประสบการณ์ มีความเชี่ยวชาญมาอย่างยาวนาน พร้อมรองรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ EV เพื่อต่อยอดธุรกิจและส่งต่อให้ PIMO-ไพโม่ ขึ้นแท่นเป็นหุ้น Growth Stock และปันผลสม่ำเสมอต่อไปในอนาคต