ความมีเสถียรภาพ และความมั่นคงในการจ่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่รากหญ้า ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ ๆ ซึ่งความมั่นคงในระบบการจ่ายไฟฟ้าถือเป็นหัวใจสำคัญหลัก โดยเฉพาะ "หม้อแปลงไฟฟ้า" และเป็นหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ 333.33 MVA 525 kV ที่สามารถผลิตได้แล้วโดยฝีมือคนไทย โดยบริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน)
นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ถิรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TRT ผู้ผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุงหม้อแปลงไฟฟ้าทุกขนาดของคนไทยเพียงแห่งเดียว เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตจำหน่าย และให้บริการครบวงจร เกี่ยวกับหม้อแปลงไฟฟ้าในภาคพื้นเอเชีย และโอเชียเนีย โดยเฉพาะในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ 333.33 MVA 525 kV ที่บริษัทสามารถพัฒนาในการผลิต และติดตั้งให้กับสถานีไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าต่าง ๆ
และเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้รับคำซื้อจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ในงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 525 kV ในโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยโครงการดังกล่าว เป็นการเสริมความมั่นคงของระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ. ในระดับ 500 kV Main Grid เพื่อรองรับโครงการพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งรองรับโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพรวมกันทั้งหมดประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ ตามแผนการพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก
โดยในคำสั่งซื้อดังกล่าว ได้นำหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 333.33 MVA 525/230/22kV 1Phase จำนวน 6 ยูนิต และยังมีหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 200 MVA 230/115/22kV 3Phase อีกจำนวน 2 ยูนิต ในการติดตั้งใช้งานที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลราชธานี 3 โดยได้จ่ายไฟฟ้าเปิดการใช้งานครั้งแรก เมื่อ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา และยังสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เป็นอย่างดีจนถึงปัจจุบัน
นายสัมพันธ์ กล่าวอีกว่า สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุบลราชธานี 3 เป็นสถานีไฟฟ้าเดียวที่ใช้หม้อแปลงถิรไทยทั้งสถานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า และเป็นการเพิ่มศักยภาพของระบบส่งไฟฟ้า รองรับการเชื่อมต่อของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยส่งผ่านพลังงานไฟฟ้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง ไปยังศูนย์กลางความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคกลาง และเขตกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าของประเทศของ กฟผ. ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจภายใต้กรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย
"ถิรไทย ต้องขอขอบพระคุณ กฟผ. ที่ได้ให้การส่งเสริมสนับสนุนใช้หม้อแปลงไฟฟ้าของไทยตลอดมา จนทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหม้อแปลงของไทยมีขีดความสามารถสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังช่วยลดการพึ่งพานำเข้าหม้อแปลงจากต่างประเทศ และยังสามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศอีก ช่วยลดการขาดดุลการค้าของประเทศได้มากกว่าหมื่นล้านบาทต่อปีอีด้วย "ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด" นายสัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย