กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สวทช.
สวทช. ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศแก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม “เต้าหู้คุณประเสริฐฯ” ได้ก๊าซชีวภาพจากการบำบัดน้ำเสียใช้เองในโรงงาน ลดต้นทุนเชื้อเพลิงราคาแพง พร้อมแก้ปัญหากลิ่นเหม็นจากน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตเต้าหู้ถั่วเหลือง ระบุ ได้ผลเกินคาด ขณะที่สวทช. หวัง ใช้เป็น ‘ โรงงานต้นแบบ ’ แก่อุตสาหกรรมขนาดเล็กอื่นๆ ต่อไป
เต้าหู้…ผลิตภัณฑ์จาก ‘ถั่วเหลือง’ ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเส้นใยสูง และมีคุณค่าทางอาหารไม่แพ้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ สามารถนำมาดัดแปลงทำเป็นเมนูอาหารได้หลากหลาย ถือเป็นอาหารสารพัดประโยชน์เพื่อสุขภาพ แต่ในกระบวนการผลิตกว่าจะได้มาซึ่งเต้าหู้นั้น จะมีใครรู้บ้างว่า เต้าหู้ที่ผลิตได้จากถั่วเหลืองเพียง 1 กิโลกรัม ต้องใช้น้ำในการผลิตมากถึง 10 ลิตร และผลจากน้ำเสียที่ผ่านกระบวนการผลิตนั้นหากไม่ได้มีการบำบัด จะก่อให้เกิดปัญหาอย่างไร
นายเจตพงศ์ วิภาวีราษฎร์ ผู้ผลิต “เต้าหู้คุณประเสริฐอุตสาหกรรมอาหาร” จากไข่ไก่ และถั่วเหลือง ในตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การผลิตเต้าหู้จากถั่วเหลืองของโรงงานต้องใช้ถั่วเหลืองในการผลิตไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัมต่อวัน จำเป็นต้องใช้น้ำในปริมาณมาก ทำให้ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นในแต่ละวันค่อนข้างสูงกว่า 20 ลูกบาศก์เมตร ปัญหาตามมาคือ น้ำเสียที่ปล่อยทิ้งโดยไม่ผ่านการบำบัดได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชน ทำให้โรงงานถูกร้องเรียนบ่อยๆ จนต้องย้ายโรงงานผลิตมาแล้วถึง 3 แห่ง ต่อมาได้ตัดสินใจซื้อพื้นที่ในตำบลดอนเปา อ.แม่วาง เพื่อก่อสร้างเป็นโรงงานแห่งใหม่ และตัดสินใจที่จะไม่ย้ายโรงงานอีกต่อไป
ดังนั้น เพื่อให้โรงงานที่ก่อตั้งขึ้นใหม่นี้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ จึงต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากน้ำเสียดังกล่าว และเห็นว่าโรงงานต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย จึงได้ขอเข้ารับการสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี(TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายภาคเหนือ ใน “ โครงการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียที่ให้ก๊าซชีวภาพสำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากโปรตีนถั่วเหลืองขนาดเล็ก ”
โดยทำการวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญที่ทางโครงการ iTAP จัดส่งเข้ามาเป็นที่ปรึกษาจากสถาบันพัฒนาและวิจัยพลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีนางสาวสุวิมล สวยสม เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญฯ เข้ามาช่วยเหลือในการออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียแบบไร้อากาศ
สำหรับระบบบำบัดน้ำเสียที่พัฒนาขึ้น มีความเหมาะสมกับน้ำเสียที่มีสารอินทรีย์สูง นอกจากนี้ในการเดินระบบยังใช้พลังงานต่ำ รักษาและดูแลง่าย ช่วยลดกลิ่นเหม็นจากน้ำเสียและสามารถผลิตก๊าซชีวภาพซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตเต้าหู้ถั่วเหลืองมาใช้เป็นพลังงานทดแทนในกระบวนการผลิตได้ใหม่
ผลที่ได้จากการดำเนินงานโครงการ พบว่า โรงงานมีระบบการบำบัดน้ำเสียที่เหมาะสมกับกำลังการผลิตที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียจากโรงงาน ขนาด 20 ลูกบาศก์เมตร/วัน นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นแล้ว ยังสามารถผลิตก๊าซชีวภาพนำมาใช้ประโยชน์ในการต้มน้ำในหม้อต้มไอน้ำ ( Boiler ) ของโรงงานได้บางส่วนสลับกับการใช้ขี้เลื่อย ทำให้ลดต้นทุนเชื้อเพลิงลง และน้ำทิ้งจากระบบบำบัดยังสามารถนำกลับมาใช้หมุนเวียนสำหรับการลดน้ำต้นไม้ภายในโรงงานได้ ทำให้ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า นอกจากนี้ระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าวยังเป็นต้นแบบให้กับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดเล็กอื่นๆ ได้
นายเจตพงศ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน โรงงานมีกำลังการผลิตเต้าหู้จากถั่วเหลืองประมาณ 300 กิโลกรัมต่อวัน สามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้เฉลี่ยวันละ 30 กิโลกรัม หรือ เท่ากับก๊าซหุงต้มขนาด 30 กิโลกรัม 1 ถัง แม้จะยังไม่เพียงพอหากนำมาใช้กับกระบวนการผลิตในโรงงานได้ทั้งหมด แต่ก็พอสำหรับการนำมาใช้หุงต้มในครัวเรือนซึ่งปัจจุบันโรงงานเลิกซื้อก๊าซสำหรับการหุงต้มแล้ว และปัญหาเรื่องกลิ่นก็หายไป ชุมชนไม่ต้องเดือดร้อนจากปัญหาดังกล่าวอีกต่อไป นับว่าคุ้มค่ากับการลงทุน
อย่างไรก็ดี ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานแม้จะมีขนาดไม่ใหญ่นักแต่สามารถรองรับกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นได้อีก 3 เท่า โดยโรงงานเตรียมขยายตลาดเพิ่มจากเดิมที่มีสินค้ากระจายอยู่ในแทบพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน และภาคเหนือตอนล่างออกไปสู่ภาคกลางตอนบน รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรึกษาความเป็นไปได้กับทาง iTAP เพื่อจัดหาผู้เชี่ยวชาญต่อไป
ผู้ประกอบการที่สนใจขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP ) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. โทรศัพท์ 0-2564-7000 โทรสาร 0-2564-7082 , 0-2567-7003 หรือที่เว็บไซต์ www.tmc.nstda.or.th/itap