ฟิทช์คงอันดับเครดิต ปตท.สผ. ที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 16, 2022 09:16 —ThaiPR.net

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาว (Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ระดับ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. สะท้อนถึงอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของบริษัทฯ ที่ 'bbb+' ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. (มีอันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ ปตท.สผ. ในสัดส่วนร้อยละ 65 อันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.สผ. สะท้อนถึงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง รวมถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้น หลังจากการเข้าซื้อกิจการและการชนะการประมูลในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมและปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น

ปตท.สผ. ได้ปรับลดเป้าหมายที่จะรักษาอัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อปริมาณการผลิตลงมาเป็น 5 ปีจาก 7 ปี ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ซึ่งฟิทช์อาจจะมีการทบทวนอันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.สผ. ใหม่ ถ้าปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทฯ ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. จะยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของ ปตท. แม้อันดับเครดิตโดยลำพังของ ปตท.สผ. จะถูกปรับลดลง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria) โดยฟิทช์ประเมินว่าแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนของ ปตท. แก่ ปตท.สผ. อยู่ในระดับสูง จากการที่ ปตท.สผ. มีความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) และความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) ในระดับสูง

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่าสถานะทางธุรกิจของ ปตท.สผ. จะยังคงแข็งแกร่งในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5-8 ต่อปี ซึ่งการเติบโตในช่วง 2 ปีข้างหน้า น่าจะมาจากการเพิ่มการผลิตในโครงการเอราวัณ (G1/61 PSC) และบงกช (G2/61 PSC) ฟิทช์เชื่อว่า ปตท.สผ. จะสามารถเริ่มการผลิตในโครงการต่างๆ ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของปริมาณการผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ โดยรวมถึงการตัดสินใจในการสำรวจและผลิต (Final investment decision) ในโครงการ Lang Lebah ในประเทศมาเลเซีย ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566

ปริมาณการผลิตปิโตรเลียมของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 18 ในปี 2564 โดยเพิ่มเป็น 416,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จาก354,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2563 เนื่องจากการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการ Oman Block 61 และการเริ่มการผลิตในโครงการ Sabah ในประเทศมาเลเซีย

อัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มลดลง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อปริมาณการผลิตของ ปตท.สผ. จะลดลงในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า เนื่องจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และอัตราส่วนดังกล่าวจะเข้าใกล้เป้าหมายของบริษัทฯ ที่จะรักษาอัตราส่วนปริมาณสำรองปิโตรเลียมต่อปริมาณการผลิตที่ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2562 จากการเข้าซื้อสินทรัพย์ในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยบริษัทฯ มีปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (Proved Reserves) อยู่ที่ 1,350 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ณ สิ้นปี 2564 หรือคิดเป็น 8.9 ปี เมื่อเทียบกับการผลิตปิโตรเลียมในปี 2564 ฟิทช์คาดว่าปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วของ ปตท.สผ. จะยังคงสอดคล้องกับอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าตามแผนการลงทุนในปัจจุบันของบริษัทฯ

ความผันผวนของรายได้ที่ต่ำกว่า: ราคาขายก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. มีการอ้างอิงกับดัชนีน้ำมันดิบเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 6 ถึง 24 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดความผันผวนของรายได้และกำไรเมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอื่นๆ ซึ่งก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิต และส่วนที่เหลือเป็นน้ำมัน นอกจากนี้ปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ ค่อนข้างมีความแน่นอน เนื่องจากสัญญาซื้อขายระยะยาวในรูปแบบ take-or-pay ฟิทช์คาดว่าสัดส่วนการผลิตก๊าซธรรมชาติของบริษัทฯ จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 75 ในปี 2569 เมื่อโครงการ Lang Lebah ในประเทศมาเลเซีย เริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์

แผนการลงทุนที่สูงขึ้น: ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (Capex) ของ ปตท.สผ. ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในธุรกิจสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะอยู่ในระดับสูง ที่ประมาณ 3.4-3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีในช่วงปี 2565-2568 เนื่องจากการลงทุนตามสัญญาสัมปทานต่างๆ รวมถึงเพื่อรักษาระดับการผลิตของแหล่งปิโตรเลียมในประเทศที่มีการผลิตมานานแล้ว นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ ปตท.สผ. ในช่วง 2 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการเอราวัณ (G1/61 PSC) และบงกช (G2/61 PSC) เพื่อที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตของโครงการ G1/61 PSC เป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และโครงการ G2/61 PSC เป็น 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

การลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น: ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนสำหรับแผนการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานที่มีคาร์บอนต่ำของ ปตท.สผ. จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทฯ มองหาโอกาสในการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ตามนโยบาย 'Beyond Exploration and Production' ของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนตามนโยบายนี้ น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ ที่ประมาณ 88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ แม้ว่า ปตท.สผ. มีการประมาณวงเงินในการลงทุนตามนโยบายนี้ไว้มากถึง 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2565-2069 ฟิทช์เชื่อว่า ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของ ปตท.สผ. น่าจะสามารถรองรับการลงทุนเหล่านี้ได้ เมื่อแผนการลงทุนตามนโยบายนี้มีความชัดเจนมากขึ้น

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่าฐานะทางการเงินของ ปตท.สผ. จะยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ในระดับที่ต่ำกว่า 0.2 เท่า จนถึงปี 2569 หากบริษัทฯ ไม่มีการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ (ปี 2564 อยู่ที่ 0.3 เท่า) ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง ณ ปัจจุบัน น่าจะส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานสุทธิ (Free cash flow) เป็นบวกในปี 2565 และ 2566 แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูง ซึ่งน่าจะช่วยทำให้บริษัทฯ มี Headroom ที่เพียงพอสำหรับอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของ Pioneer Natural Resources Co. (อันดับเครดิตที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา Pioneer มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า ปตท.สผ. โดยมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมที่ 638,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ประมาณ 2.2 พันล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ แต่ถูกลดทอนจากการที่ ปตท.สผ. มีรายได้ที่มีความผันผวนน้อยกว่า และการกระจายตัวตามภูมิภาคที่ดีกว่า ทั้งสองบริษัทมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง

ปตท.สผ. มีอันดับเครดิตเท่ากับ Devon Energy Corporation (อันดับเครดิตที่ 'BBB+' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีปริมารการผลิตปิโตรเลียมที่มากกว่าที่ 567,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยนี้ถูกลดทอนจากการที่ ปตท.สผ. กำลังเพิ่มปริมาณการผลิต และบริษัทฯ มีรายได้ที่มีความผันผวนน้อยกว่า ทั้งสองบริษัทมีฐานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิของทั้งสองบริษัท จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 0.2 เท่าในช่วง 4 ปีข้างหน้า

อันดับเครดิตของ ปตท.สผ. อยู่ในระดับสูงกว่าของ Santos Limited (อันดับเครดิตที่ 'BBB' แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) อยู่หนึ่งอันดับ เนื่องจาก ปตท.สผ. มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งกว่า และมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า ฟิทช์คาดว่า Santos จะเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเป็น 290,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หลังจากการควบรวมกับ Oil Search ที่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ 1,009 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ Santos มีรายได้ที่มีความผันผวนน้อยกว่าบริษัทในธุรกิจเดียวกัน เนื่องจากรายได้ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจ LNG ซึ่งมีสัญญาซื้อขายระยะยาวโดยมีการอ้างอิงกับดัชนีน้ำมันดิบ และธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศที่จำหน่ายตามสัญญาซื้อขายระยะยาวด้วยโครงสร้างราคาที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้า ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO net leverage ของ Santos จะไปอยู่ที่ระดับ 2.0-2.2 เท่าในปี 2567-2568 โดยไม่ได้พิจารณาถึงการขายสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อปรับการลงทุนให้เหมาะสม

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ที่ราคา 105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2565, 85 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2566, 65 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปี 2567 และ53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลในปีถัดๆไป
  • ราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ราคา 6.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปี 2565, 6.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปี 2566, 5.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปี 2567 และ 5.1 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปี 2568
  • การผลิตปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9 ในปี 2565 จากนั้นเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีถัดๆไป
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565, 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566, 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2567 และ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2568
  • ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน 400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2565 จากโครงการบงกช
  • การจ่ายเงินปันผลประมาณร้อยละ 50 ของกำไร

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท. โดยที่ความสัมพันธ์ระหว่าง ปตท.สผ. และ ปตท. ยังคงเหมือนเดิม
    ปัจจัยลบ
  • การปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวของ ปตท.

สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่แข็งแกร่ง: สภาพคล่องของปตท.สผ. ได้รับการสนันสนุนจากเงินสดจำนวน 8.6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับหนี้สินระยะสั้นจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท และหนี้สินทั้งหมดจำนวน 1.2 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ฟิทช์คาดว่า ปตท.สผ.จะยังคงมีกระแสเงินสดจากการดำเนินที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการลงทุนในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ทำให้กระแสเงินสดสุทธิยังคงเป็นบวก รวมถึงความสามารถของบริษัทฯ ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ที่จะช่วยสนับสนุนสภาพคล่องของบริษัทฯ เพิ่มเติมอีกด้วย

ข้อมูลของบริษัท
ปตท.สผ. เป็นบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติของประเทศไทย บริษัทฯ เป็นบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลักของกลุ่มปตท. โดยบริษัทฯ มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลักๆ ในประเทศไทย, มาเลเซีย, พม่า, โมซัมบิก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอลจีเรีย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ