สกสว. จัดประชุม นำเสนอรายงานโครงการ Social Monitoring พบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำใหม่ ด้านเทคโนโลยีและด้านสิ่งแวดล้อมที่น่าเป็นห่วง พร้อมเผยผลสำรวจสถานการณ์โควิด-19 ที่เสี่ยงส่งผลตอกย้ำสภาพความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดประชุมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าโครงการ Social Monitoring สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ของ ผศ.ดร. ธร ปีติดลคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำ และสำรวจสภาพความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย เพื่อชี้ให้เห็นกลุ่มเปราะบาง วิเคราะห์ศักยภาพของนโยบายรัฐและแนวทางการแก้ปัญหาที่สามารถลดระดับความเหลื่อมล้ำของประเทศ รวมถึงความเสี่ยงที่อาจส่งต่อความเหลื่อมล้ำข้ามรุ่น โดยมี รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. และ ดร.ลัษมณ อรรถาพิช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการ สกสว. หรือในฐานะผู้อำนวยการหน่วยข้อมูลและสำนักงานผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ และ ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ตลอดจน ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และ นักวิจัย เข้าร่วมการประชุม
โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจจัดทำนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และกรอบงบประมาณเพื่อการจัดสรรทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ เป็นปีที่ 3 นับจากการเปลี่ยนแปลง ตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ปี 2562 เพื่อศึกษาสถานการณ์ภาพรวมด้านการวิจัยและนวัตกรรม การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนงานด้านวิชาการ งานธุรการ และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ดังนั้น การสนับสนุน โครงการ Social Monitoring สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ให้แก่ ผศ.ดร. ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนักวิจัย อีก 12 ท่าน จึงเป็นพันธกิจหนึ่งที่ สกสว. ใช้ติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย โดยการนำข้อมูล ข้อค้นพบ มาใช้วิเคราะห์ เพื่อจัดทำแผนดำเนินงาน และ กำหนดโจทย์การวิจัย ที่สอดคล้องกับเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (OKRs) ของ (ร่าง) แผนด้าน ววน. พ.ศ. 2566 - 2670 ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอเพื่อพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรี ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 รวม 4 ด้าน คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ด้านความเหลื่อมล้ำในช่วงวัย/ระหว่างกลุ่มอาชีพ ด้านศักยภาพของนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำ ด้านการพัฒนาฐานข้อมูลและตัวชี้วัดความเหลื่อมล้ำ รวมถึงการสำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทย
ด้าน ผศ.ดร. ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงการศึกษาในภาพรวมว่า ทางทีมได้ขยายการติดตามการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำในมิติทางเศรษฐกิจและมิติอื่นๆ ก็พบหลายแง่มุมที่สะท้อนถึงปัญหา ทั้งที่ยังฝังรากลึกและเกิดขึ้นใหม่ เช่น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และทรัพย์สินนั้น แม้ค่าดัชนีความเหลื่อมล้ำในภาพรวมเสมือนว่าจะดีขึ้น แต่หากตรวจสอบรายละเอียดกลับพบว่าสภาพนี้เชื่อมโยงกับการที่กลุ่มรายได้ระดับกลางถึงระดับบนกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคอื่นๆนอกเหนือไปจากกรุงเทพนั้นก็ไม่ได้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษานั้นแม้จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อนำเอาความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีมาประกอบการพิจารณา กลับพบปัญหาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและการมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่ยังกระจุกตัวในกลุ่มครัวเรือนที่มีการศึกษาและรายได้สูง และอาศัยในกรุงเทพ เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ แม้กลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลได้ แต่ก็พบสภาพที่น่าเป็นห่วงว่ากลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนที่ต้องเผชิญปัญหาสุขภาพจากมลภาวะทางอากาศสูงกว่ากลุ่มรายได้อื่นๆ รวมถึงเรื่องทักษะแรงงาน ซึ่งเมื่อแยกตามทักษะและวิเคราะห์การส่งผ่านความได้เปรียบทางเศรษฐานะข้ามรุ่น พบสถานการณ์ที่ว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานที่มีระดับทักษะปานกลางและสูงแล้ว แรงงานกลุ่มทักษะต่ำในรุ่นลูกนั้นมีโอกาสเลื่อนชั้นฐานะได้ยากที่สุด
นอกจากนี้ยังพบว่ามีประเด็นความเหลื่อมเหลื่อมล้ำ ด้านเทคโนโลยี และ ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ซึ่งในด้านเทคโนโลยี แม้ว่าครัวเรือนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น แต่ยังคงมีความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนเพิ่มมากขึ้น โดยที่ค่าสัมประสิทธิ์จีนีในด้านเทคโนโลยีปรับตัวสูงขึ้นไปในช่วงปี 2562 และจากการแยกส่วนประกอบอายุและการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน และจำนวนสมาชิกมีผลต่อความเหลื่อมล้ำของเทคโนโลยี เมื่อพิจารณาในเชิงของทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต จะพบว่าทักษะของการใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต จะแปรผันตามการศึกษาระดับชั้นของรายได้ การทำงาน และ ความแตกต่างระหว่างพื้นที่และเขตเมืองและชนบท โดยกลุ่มที่มีทักษะการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการประกอบอาชีพได้ ยังกระจุกตัวเพียงในกลุ่มรายได้สูงและการศึกษาสูงเป็นหลัก
ส่วนความเหลื่อมล้ำด้านสิ่งแวดล้อม ผู้วิจัยอธิบายว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางอากาศ โดยเฉพาะระดับ pm 2.5 เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เนื่องจาก pm 2.5 เป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพทั้งโรคที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว งานศึกษาจำนวนมากพบความเชื่อมโยงระหว่าง pm 2.5 กับปัญหาสุขภาพ โดยผู้วิจัยได้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนของผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับ PM 2.5 ต่อประชากรทั้ง จังหวัดกับรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน และสัมประสิทธิ์จีนีของรายได้ในแต่ละจังหวัด โดยพิจารณาโรคระบบทางเดินหายใจ โรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรควัณโรค สำหรับความสัมพันธ์ของโรคระบบทางเดินหายใจกับความเหลื่อมล้ำของรายได้ พบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นของจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจต่อประชากร ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ อนุมานได้ว่าเมื่อความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงขึ้นจะส่งผลทางบวกต่อจำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการที่คนที่มีรายได้น้อยจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงกว่าจาก pm 2.5