กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--
๑. ความเป็นมา หลักการและเหตุผล
กระบวนการยุติธรรม ถือเป็นเสาหลักของสังคมประชาธิปไตยที่ยึดมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน และนิติธรรม เพื่อให้สังคมดำรงอยู่ได้อย่างสันติสุข ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court — ICC) ได้จัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statue) ที่ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมทางการทูตที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๑ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่สนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมในการประชุมดังกล่าว ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ประเทศไทยก็เป็นประเทศหนึ่งในจำนวน ๑๒๐ ประเทศ และปัจจุบันศาลอาญาระหว่างประเทศได้จัดตั้งขึ้นแล้ว แต่แม้ระยะเวลาผ่านมาแล้ว ๑๐ ปี และมีประเทศต่างๆ เข้าเป็นภาคีแล้ว ๕ ประเทศ ประเทศไทยก็ยังมิได้ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศแต่อย่างใด
ศาลอาญาระหว่างประเทศ ได้จัดตั้งขึ้นภายหลังจากที่ประชาคมโลกได้ผ่านประสบการณ์ที่ถือเป็นโศกนาฏกรรมของมนุษย์ชาติที่เลวร้ายที่สุดหลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาสงครามโลก ทั้งสองครั้ง และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ที่นำไปสู่การเข่นฆ่าและประหัตประหารมนุษย์ด้วยกันอย่างโหดร้ายทารุณนับหมื่นนับแสนคน เช่น การล้างเผ่าพันธุ์ที่ประเทศ รวันดา บอสเนีย-เฮเซโกวีนา (อดีตประเทศยูโกสลาเวีย) ติมอร์ตะวันออก กัมพูชา เป็นต้น ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมีอำนาจพิจารณาคดีอาชญากรรม ๔ ประเภท ซึ่งถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่มีลักษณะสากล คือ อาชญากรรมอันเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์ (Crime of Genocide) อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) อาชญากรรมสงคราม (War Crime) และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (Crime of Aggression)
ในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปี ของการประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วยประเทศไทยได้กลับมาสู่ครรลองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(พ.ศ. ๒๕๔๔) ที่มีบทบัญญัติหลายประการในอันที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงเห็นควรจัดให้มีการประชุมสัมมนาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ : มิติใหม่แห่งการอภิวัฒน์กระบวนการยุติธรรม ขึ้น
๒. วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจศาลอาญาระหว่างประเทศ ทั้งในด้านบทบาท อำนาจหน้าที่ และอื่นๆ
๒. เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเหตุผลและข้อเสนอแนะให้ประเทศไทยให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ
๓. เพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงผลกระทบต่อการปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการ ยุติธรรมของประเทศไทย ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม
๓. วัน เวลา และสถานที่จัดสัมมนา
กำหนดการจัดสัมมนาในวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ เวลา ๐๙.๐๐ — ๑๖.๓๐ น. ณ โรงแรมสยาม ซิตี้ ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร
๔. ผู้เข้าร่วมการสัมมนา ประกอบด้วย หน่วยงานของภาครัฐ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่สถานทูตประจำประเทศไทย สื่อมวลชน ประชาชนผู้สนใจ และสำนักงานคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวนประมาณ ๑๒๐ คน
๕. ผู้รับผิดชอบโครงการ
คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการสูญหายของบุคคล ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (สมาคมเพื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล)
๖. งบประมาณ
๑. เบิกจ่ายจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในรหัสกิจกรรม oM๑ — ๑๕๘๐๐ ในวงเงิน จำนวน ๑๓๔,๕๐๐บาท (หนึ่งแสนสามหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน)
๒. องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักวิทยากรจากต่างประเทศ
๓. องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รับผิดชอบค่าล่ามและค่าเช่าหูฟังในส่วนที่ทางราชการไม่สามารถจ่ายได้
๗. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
๑. เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐและเอกชน มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ
๒. ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการที่ประเทศไทยจะให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม
๓. รัฐบาลไทยจะพิจารณาข้อเสนอแนะในการที่จะให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีของธรรมนูญกรุงโรม
๔. แนวทางการปรับปรุงกำหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย ให้สอดคล้องกับการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคธรรมนูญกรุงโรม