คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา จับมือคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. และภาคีเครือข่ายด้านการส่งเสริมสุขภาพ ส่งนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขชุมชน ร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกันและจัดการภาวะสมองเสื่อมจากผู้ดูแล รุ่นที่ 3 พร้อมร่วมจัดการเรียนการสอน ผลิตบัณฑิตให้มีศักยภาพทั้งเชิงวิชาการและวิชาชีพ ปูทางสู่การเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ
ผศ.ดร.ทวีสิน นาวารัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดทำหลักสูตร non-degree การป้องกันและจัดการภาวะสมองเสื่อมจากผู้ดูแล รุ่นที่ 3 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักปลัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตตามนโยบายการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย ในการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่และกำลังคนให้มีศักยภาพทั้งเชิงวิชาการและวิชาชีพ ในการดูแลและจัดการปัญหาสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานในอุตสาหกรรมได้ในอนาคต (New S-curve) ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรได้ ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา มีความประสงค์ที่จะผลักดันให้นักศึกษาของทางคณะฯ เข้าร่วมในหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมได้รับประกาศนียบัตรที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานได้ในอนาคต จึงได้มีความร่วมมือทางวิชาการในการจัดการอบรมดังกล่าว
ทั้งนี้ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. เป็นผู้ดำเนินการหลักในการกำกับดูแลให้การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กำหนด และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา เป็นผู้ร่วมจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมและสนับสนุน ให้นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขชุมชน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 20 คน โดยมีความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงาน ร่วมจัดการเรียนการสอน ดังนี้ เทศบาลนครหาดใหญ่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา โรงพยาบาลจิตเวชสงขลานครินทร์ สถานสงเคราะห์คนชราอนาถา มูลนิธิจงฮั่ว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ตำบลทุ่งตำเสา และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา สถานที่ในการเรียน ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. ศูนย์ชีวาสุข เทศบาลนครหาดใหญ่ สถานสงเคราะห์คนชรา จงฮั่ว รพ.สต. ทุ่งตำเสา และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา
นอกจากจะส่งนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขชุมชนเข้าร่วมอบรมแล้ว ทางคณะฯ ยังได้ส่งอาจารย์หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต เข้าร่วมอบรมด้วย โดยมีค่าลงทะเบียน 9,000 บาท/คน ส่วนนักศึกษาทั้ง 20 คนไม่เสียค่าใช้จ่ายในการอบรม เนื่องจากเป็นความร่วมมือระหว่าง ม.อ. กับ มรภ.สงขลา สถานที่ในการเรียน ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. ศูนย์ชีวาสุข เทศบาลนครหาดใหญ่ สถานสงเคราะห์คนชราจงฮั่ว รพ.สต.ทุ่งตำเสา และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา โดยมีอาจารย์สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา จำนวน 3 คน ร่วมสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ในหัวข้อ อาหารและโภชนาการในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ นับเป็นก้าวสำคัญของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้เข้าร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความประสงค์จะจัดตั้งศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ ในอนาคตอันใกล้นี้
หลักสูตรประกาศนียบัตร (non-degree) ที่จัดทำขึ้นนี้ เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนให้มีความรู้และทักษะในการดูแลผู้สูงอายุดังนี้ 1. การประเมินภาวะสุขภาพและสมรรถภาพสมองเบื้องต้น 2. ให้การดูแลเพื่อป้องกันและจัดการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ 3. ออกแบบกิจกรรมกระตุ้นสมรรถนะของสมองเพื่อป้องกันการจัดการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ โดยคาดหวังให้ผู้เรียนสามารถประเมิน วิเคราะห์ และแปลผล ภาวะสุขภาพและสมรรถภาพสมองเบื้องต้นของผู้สูงอายุได้ สามารถสื่อสารและเข้าถึงผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมได้ สามารถดูแลเพื่อป้องกันและจัดการอาการภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ ตลอดจนสามารถออกแบบและจัดกิจกรรมกระตุ้นสมรรถนะของสมอง เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้
ประการสำคัญคือ เมื่อเรียนจบหลักสูตรนี้แล้ว ผู้เรียนสามารถดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในสถานบริการ บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน/รายวัน ดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัว เป็นผู้ประกอบการสถานดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงสามารถออกแบบหลักสูตร จัดการอบรมการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม