ฟิทช์ปรับลดอันดับเครดิต JWD InfoLogistics เป็น BB+(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 20, 2022 09:40 —ThaiPR.net

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เป็น BB+(tha) จาก BBB-(tha) และปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ของบริษัทฯ เป็น B จาก F3(tha) ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของโครงการหุ้นกู้สกุลเงินบาท ที่ได้รับการค้ำประกันโดย Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ที่ AAA(tha)

แนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว มีสเถียรภาพ

การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินของ JWD ที่อยู่ในระดับที่สูง โดยวัดจากหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted net debt to EBITDAR) ซึ่งฟิทช์คาดว่าน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 5.5 เท่า อย่างน้อยภายในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า อัตราส่วนหนี้สินที่สูงเป็นผลจากแผนการค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการลงทุนที่อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ ทั้งนี้ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อผลประกอบการของ JWD ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิ ซึ่งหมายถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังจากหักค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินปันผล (Free cash flow, FCF) น่าจะยังคงติดลบอย่างต่อเนื่องต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการลงทุนต่างๆ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินล่าช้าจากกระแสเงินสดสุทธิที่ติดลบ: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สิน Adjusted net debt to EBITDAR ของ JWD จะยังคงอยู่ในระดับสูงประมาณ 6 เท่า ในปี 2565 (ไตรมาสแรกปี 2565 อยู่ที่ 6.6 เท่า) ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ระดับประมาณ 5.6 เท่าในปี 2566 การลดลงของอัตราส่วนหนี้สิน ล่าช้ากว่าที่ประมาณการไว้เดิม เนื่องจากบริษัทฯ มีการปรับแผนเพิ่มค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการลงทุนสำหรับปี 2565-2566 ซึ่งน่าจะส่งผลให้กระแสเงินสดสุทธิของ JWD น่าจะยังคงติดลบต่อไปอีกอย่างน้อยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า หลังจากที่ติดลบมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

กระแสเงินสดสุทธิที่ติดลบของ JWD เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการลงทุนที่สูง ในขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ได้รับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่า ทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ JWD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อขยายพื้นที่คลัง: JWD มีแผนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท - 1.2 พันล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อการขยายพื้นที่สำหรับคลังสินค้าห้องเย็น คลังสินค้าทั่วไป และการเพิ่มสาขาสำหรับธุรกิจให้บริการเก็บของใช้ส่วนตัว (Self Storage) เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกัน ในปี 2565 บริษัทฯ มีแผนการลงทุนประมาณ 400 ล้านบาท สำหรับลงทุนในกิจการร่วมค้ากับหนึ่งในบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในประเทศไทย เพื่อลงทุนพัฒนาคลังสินค้าห้องเย็นและคลังสินค้าทั่วไปแบบ Built-to-Suit รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน ESCO ซึ่งเป็นบริษัทจัดการท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่แหลมฉบัง เพื่อได้รับเงินปันผลและเพิ่มโอกาสในธุรกิจโลจิสติกส์

กระแสเงินสดจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น: ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ JWD จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประมาณร้อยละ 16 ในปี 2565 และร้อยละ 20 ในปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่คลังสินค้าทั้งคลังสินค้าห้องเย็นและคลังสินค้าทั่วไป ที่เลื่อนมาจากปี 2564 เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด โดยการเติบโตของ EBITDA ในปี 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนบางส่วนจากการรวมงบการเงินเต็มปีเป็นปีแรกของบริษัท วีเอ็นเอส ทรานสปอร์ต จำกัด (VNS) ซึ่งผู้ให้บริการโลจิสติกส์สำหรับชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการผลิตรถยนต์ ที่ JWD ถือหุ้นโดยทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 83 และกิจการร่วมค้าที่ทำธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศกัมพูชา ซึ่ง JWD ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 60 โดยทั้งสองกิจการได้เริ่มการรวมงบการเงินกับ JWD ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2564

อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA margin) ของ JWD น่าจะยังคงอยู่ประมาณร้อยละ 16 ในปี 2565 เนื่องจากอัตรากำไรที่ต่ำในช่วงแรกของการเปิดให้บริการของคลังสินค้าห้องเย็นใหม่ที่สร้างเสร็จและอัตราส่วนกำไรที่ต่ำของธุรกิจคลังสินค้าทั่วไปในส่วนที่เกินพื้นที่รองรับของบริษัทฯ และต้องเช่าคลังสินค้าจากผู้ประกอบการภายนอกที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงกิจกรรมที่จำกัดของธุรกิจให้บริการยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าท่าเทียบเรือชายฝั่ง (Barge Terminal) เนื่องจากอุปกรณ์ที่เสียหาย ฟิทช์คาดว่า EBITDA margin จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18 ในปี 2566-2567 จากอัตรากำไรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นของคลังสินค้าใหม่และธุรกิจใหม่ๆ ของบริษัทฯ ซึ่งได้แก่ Self Storage ธุรกิจให้บริการด้านอาหาร ซึ่งมีการปรับตัวที่ดีขึ้นมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

ความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับปานกลาง: ฟิทช์เชื่อว่า JWD ได้รับประโยชน์จากการมีอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับปานกลาง จากความต้องการเงินลงทุนที่สูง ความชำนาญ และประวัติในการให้บริการที่จำเป็นสำหรับสินค้าบางประเภท JWD เป็นผู้ได้รับสัมปทานเพียงรายเดียวในการให้บริการดูแลรับฝากและขนย้ายสินค้าที่เข้าข่ายสินค้าอันตรายตามกฎหมาย ที่ทำการขนส่งผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย JWD เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลังสินค้าและลานวางสินค้าภายในบริเวณท่าเรือแหลมฉบังที่ใหญ่ที่สุดสามรายแรกในด้านขนาดของพื้นที่ ส่วนการให้บริการโลจิสติกส์อื่นๆ ของ JWD ส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีผู้ให้บริการหลักๆ เพียงไม่กี่ราย โดยที่ผู้ให้บริการแต่ละรายมีความแตกต่างกันในการให้บริการในระดับหนึ่ง เช่น พื้นที่ที่ให้บริการ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน

ขนาดของธุรกิจที่เล็ก: ฟิทช์คาดว่าแผนการขยายธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งในด้านประเภทของการให้บริการและในด้านภูมิศาสตร์ น่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจรวมถึงการกระจายความเสี่ยงได้ในระยะยาว JWD มีขนาดของธุรกิจที่เล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับที่สูงกว่า JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์อิสระ (Third-party Logistics Services Provider) โดยจะให้บริการลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่สำหรับงานประเภทซึ่งมีการจ้างผู้ให้บริการภายนอก (Outsourcing) แทนหน่วยงานภายในองค์กร ในขณะที่ลูกค้าอีกส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม จากการขยายธุรกิจคลังสินค้าห้องเย็นมากขึ้นรวมทั้งการขยายไปยังธุรกิจใหม่อื่นๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความกระจุกตัวของธุรกิจและทรัพย์สินของบริษัทฯ ในบริเวณท่าเรือแหลมฉบังลดน้อยลง

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
JWD เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการโลจิสติกส์ภาคพื้นดินแบบครบวงจรรายใหญ่ในประเทศไทย รายได้ร้อยละ15-20 ของบริษัทฯ สามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากมีสัญญาสัมปทานและสัญญาระยะปานกลางถึงระยะยาวรองรับ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF (BBB+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb-(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางภายใต้แนวความคิดศูนย์การค้าชุมชน ถือเป็นบริษัทที่มีอันดับเครดิตที่เทียบเคียงได้กับ JWD SF มีรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้อยู่ในระดับที่สูงกว่า JWD เนื่องจากมีสัญญาเช่าระยะปานกลางถึงระยะยาวรองรับ อย่างไรก็ตาม SF ได้รับผลกระทบจากสถารการณ์โรคระบาดค่อนข้างมากเนื่องจากส่วนลดค่าเช่าที่จำเป็นต้องให้แก่ผู้เช่าที่ประสบปัญหา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของ SF มีการฟื้นตัวที่รวดเร็วเนื่องจากผู้เช่ามากกว่าร้อยละ 50 ของ SF มาจากผู้เช่าที่เป็นร้านอาหารและซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ที่ครบวงจรของ JWD รวมถึงฐานลูกค้าที่อยู่ในธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้ธุรกิจโดยรวมของ JWD ไม่ได้รับผลกระทบที่มากนักในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งสามารถชดเชยระดับของรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้ที่ต่ำกว่า SF ได้ เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนหนี้สินของ JWD น่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ SF ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ SF มีปัจจัยสนับสนุนความยืดหยุ่นทางการเงินจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำและมีทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนซึ่งเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในความต้องการของตลาด ดังนั้น JWD จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ SF อยู่หนึ่งอันดับ

ในขณะที่ JWD มีขนาดของธุรกิจที่เล็กกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC, A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ สถานะเครดิตโดยลำพัง bbb(tha)) ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของประเทศไทย แต่ IRPC มีความผันผวนของรายได้มากกว่า JWD เนื่องจากต้องเผชิญกับความเสี่ยงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ IRPC ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมากกว่า JWD อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ IRPC น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า JWD ดังนั้น ด้วยสถานะทางธุรกิจของ IRPC ที่แข็งแกร่งกว่าเนื่องจากขนาดของธุรกิจที่ใหญ่กว่ามาก และสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า JWD จึงได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพัง ของ IRPC อยู่สองอันดับ

สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้เติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 15 ในปี 2565 จากการขยายพื้นที่คลังสินค้าและการรวมงบการเงินเต็มปีเป็นปีแรก ของบริษัทย่อยใหม่ที่เข้าถือหุ้นในปี 2564 และอัตราการเติบโตของรายได้ประมาณร้อยละ 10 ในปี 2566 และ 2567
  • อัตราส่วน EBITDA margin ยังคงอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 16 ในปี 2565 และปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18 ในปี 2566-2567
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและการลงทุนประมาณ 1.6 พันล้านบาทในปี 2565 และ ประมาณ 1.3 พันล้านบาทต่อปีในปี2566 และ 2567

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
สำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว

ปัจจัยบวก:

  • อัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted net debt to EBITDAR) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 5.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

ปัจจัยลบ:

  • หนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted net debt to EBITDAR) อยู่ในระดับสูงกว่า 6.0 เท่าอย่างต่อเนื่อง

สำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้สกุลเงินบาท ที่ได้รับการค้ำประกันโดย CGIF

ปัจจัยบวก:

  • การปรับเพิ่มอันดับเครดิตไม่น่าจะเกิดขึ้นเนื่องจากในปัจจุบันอันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้อยู่ที่ระดับสูงสุดของอันดับเครดิตภายในประเทศแล้ว

ปัจจัยลบ:

  • สถานะทางเครดิตของ CGIF ที่อ่อนแอลงเมื่อเทียบกับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่จัดการได้: JWD มีหนี้สินทั้งหมดประมาณ 5.7 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 โดยจำนวน 1.8 พันล้านบาท จะครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้าสิ้นสุด 31 มีนาคม 2566 ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้จำนวน 600 ล้านบาทที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 สภาพคล่องของ JWD มีปัจจัยสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น จำนวน 1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน JWD ยังมีทรัพย์สินปลอดหลักประกัน ในรูปของที่ดินและอาคารซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีประมาณ 1.3 พันล้านบาท ซึ่งฟิทช์เชื่อว่าสามารถใช้เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ได้ หากมีความจำเป็น

บริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากธนาคารภายในประเทศ โดยมีวงเงินกู้หมุนเวียนที่สามารถยกเลิกได้ที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Uncommitted Facilities) ประมาณ 824 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถออกตราสารหนี้ในตลาดทุนภายในประเทศได้ โดยบริษัทฯได้มีการออกหุ้นกู้จำนวน 1.9 พันล้านบาทและ 500 ล้านบาทในปี 2564 และไตรมาสแรกของปี 2565 ตามลำดับ

ลักษณะธุรกิจ
JWD เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ครบวงจรในประเทศไทย ที่ให้บริการทั้งสินค้าทั่วไป เคมีภัณฑ์ ยานยนต์ และสินค้าควบคุมอุณหภูมิ นอกจากนี้ JWD ยังมีบริการขนย้าย คลังสินค้าเอกสาร และธุรกิจให้บริการเก็บของใช้ส่วนตัว (Self Storaeg) JWD มีการขยายธุรกิจไปยังปรเทศกัมพูชาและอินโดนีเซียในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาด้วย

อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของโครงการหุ้นกู้ค้ำประกันของ JWD สะท้อนถึงการค้ำประกันโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถ เพิกถอนได้โดย CGIF


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ