ทีเส็บเปิดตัวแบรนด์อุตสาหกรรมไมซ์ไทยสำหรับตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก ณ งาน IMEX Frankfurt 2022 ชูจุดแข็งด้านวัฒนธรรมและโอกาสทางธุรกิจสำหรับการจัดงาน นำ 14 ผู้ประกอบการไมซ์ไทยพบลูกค้าต่างชาติครั้งแรกในรอบ 2 ปี สร้างความมั่นใจไทยพร้อมจัดงาน คว้ายอดการจัดงานจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (lead) 84 งาน คาดการณ์สร้างรายได้กว่า 1,873 ล้านบาท พร้อมดันไทยเป็นจุดหมายใหม่ของการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Event)
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้เปิดตัวแบรนด์ใหม่อุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทยสำหรับสื่อสารกับตลาดต่างประเทศ Thailand MICE: Meet the Magic เป็นครั้งแรกในงาน IMEX Frankfurt 2022 ณ เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นการเปิดศักราชใหม่ของอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ตอบรับนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล และสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางไมซ์ต่างชาติเชื่อมั่นในความพร้อมของประเทศไทยสำหรับการจัดกิจกรรมไมซ์ในทุกรูปแบบ ปีนี้ทีเส็บนำผู้ประกอบการไมซ์ไทย รวม 14 ราย ประกอบด้วยบริษัทผู้ให้บริการด้านบริหารจัดการการเดินทาง (Destination Management Company - DMC) 5 ราย สถานที่จัดงาน 1 แห่ง และโรงแรม 8 แห่ง เข้าร่วมงานเพื่อพบปะเจรจาธุรกิจกับลูกค้าใน Thailand Pavilion ที่ได้รับการออกแบบภายใต้แนวคิด Thailand MICE: Meet the Magic ที่นำเสนอความพร้อมของประเทศไทยในด้านต่าง ๆ อาทิ มาตรการด้านสาธารณสุขของไทย แนวปฏิบัติด้านสุขอนามัยสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (COVID Free Setting) มาตรฐานสถานที่จัดงานในประเทศไทย (MICE Venue Standard) การจัดงานอย่างยั่งยืน ศักยภาพเมืองไมซ์ และแพ็กเกจสนับสนุนการจัดงาน ทั้งยังมีกิจกรรมมอบของที่ระลึก "พวงมาลัยผ้า" จากชาวบ้านเมืองฮอด จ. เชียงใหม่ ที่เป็นการนำเสนอ Local Experience ผ่านผ้าไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศักยภาพทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของไทย และทำให้ได้ใจชาวต่างชาติในงานเป็นจำนวนมาก
"IMEX Frankfurt 2022 เป็นงานเทรดโชว์พบปะเจรจาธุรกิจทางด้านไมซ์ที่สำคัญในยุโรป ถือเป็นงานที่รวมผู้ซื้อ (Buyer) ศักยภาพสูงจากทั่วโลก ในปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 9,000 คน เป็นผู้ซื้อ (Buyer) นานาชาติ 2,876 ราย จากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ที่ต้องการหาสถานที่จัดประชุม สัมมนา และวางแผนการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และมีผู้ขาย (Exhibitor) เข้าร่วมงานจาก 150 ประเทศ นอกจากนั้นในปีนี้ถือเป็นการจัดงานแบบปกติ (Physical Event) ครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด 19 ขึ้นทั่วโลกในปี 2563 จึงเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย สร้างการรับรู้ว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยและอุตสาหกรรมไมซ์ไทยได้พัฒนาและยกระดับตัวเองอยู่ตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการจัดงานไมซ์ทุกรูปแบบทันทีที่เปิดประเทศ การเปิดตัวแบรนด์ใหม่ Thailand MICE: Meet the Magic มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นแคมเปญโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่นำความโดดเด่นของไทยคือ ศักยภาพทางวัฒนธรรม อาทิ การบริการ น้ำใจไมตรี ความยืดหยุ่นในการทำงาน การผสานความร่วมมือ เทศกาลประเพณีไทย อาหาร และศักยภาพความเจริญด้านเศรษฐกิจ อาทิ ความครบครันของระบบสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกส์ การคมนาคมขนส่ง ที่พัก มาตรฐานระดับสากล มาตรการด้านสุขอนามัยที่ดี เทคโนโลยีที่ทันสมัย มาผนวกหลอมรวมเข้าด้วยกันแล้วนำเสนอให้เห็นเสน่ห์รอบด้านของเมืองไทยที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินทางไมซ์ได้อย่างลงตัว เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่ขับเคลื่อนประเทศไทยในฐานะจุดหมายของการจัดงานไมซ์ให้โดดเด่นในสายตานานาชาติ"
ทั้งนี้ ในส่วนของการเจรจาธุรกิจได้ผลตอบรับจากกลุ่มผู้ซื้อ (Buyer) เป็นที่น่าพอใจ คาดการณ์ว่าจะเกิดการจัดงานจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (lead) ได้ถึง 84 งาน ดึงนักเดินทางไมซ์ต่างชาติเดินทางเข้าประเทศกว่า 28,388 ราย คิดเป็นรายได้ประมาณ 1,873.6 ล้านบาท
นางสาวกฤษณี ศรีษะทิน ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สตรีม อีเวนต์ เอเซีย จำกัด กล่าวว่า "การเข้าร่วมงานกับทีเส็บครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี เพราะประเทศไทยได้ผ่อนปรนการเดินทางเข้าประเทศ สถานการณ์โรคระบาดลดลง จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ได้พบปะลูกค้าในยุโรปและทราบถึงศักยภาพการตลาด เนื่องจากมีกลุ่มลูกค้าที่วางแผนมาจัดงานในประเทศไทย จึงถือเป็นนิมิตรหมายอันดีสำหรับวงการไมซ์ไทยและประเทศไทยในภาพรวม"
นางสาวประภา เตรียมศศิธร ผู้อำนวยการฝ่ายขาย ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ แสดงความเห็นว่า "ปีนี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม มีการเปิดประเทศในปีที่ทางศูนย์ฯ วางแผนเปิดตัวพื้นที่ประชุมใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมหลังจากได้ปิดปรับปรุงมา 3 ปี สอดรับกับความต้องการของลูกค้าที่มองหาสถานที่จัดงานใหม่ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าต่างประเทศที่จะมาจัดงานขนาดใหญ่ระดับผู้ร่วมงาน 1 พันคนขึ้นไป เป็นส่วนที่ได้รับการตอบรับที่ดีเพราะทางศูนย์ฯ สามารถรองรับได้"
ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม นางสาวนงเยาว์ รัตนเย็นใจ ผู้อำนวยการฝ่ายขาย โรงแรม ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท กล่าวว่า "การเข้าร่วมงานในปีนี้เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้พัฒนาการใหม่ๆ แนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของวงการไมซ์ ประการสำคัญคือแรงตอบรับที่ชัดเจนจากลูกค้าต่างประเทศทั้งในส่วนของสมาคม องค์กร บริษัท และนักวางแผนการประชุมที่มีแผนงาน กำหนดการที่ชัดเจนมาพูดคุย เป็นสัญญาณที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ประเทศไทย"
นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกของ Thailand Pavilion ที่ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการจัดงานอย่างยั่งยืน หรือ IMEX People & Planet Pledge ที่ใช้การออกแบบตามหลักการ Reduce, Reuse, Recycle ในทุกองค์ประกอบ และได้รับการยอมรับในฐานะ Green Booth ทั้งนี้ ทีเส็บได้นำผ้าจากการตกแต่งงานอีเวนต์อื่นๆ กลับมาใช้ใหม่ เช่น ผ้าคลุมเก้าอี้ เข็มกลัดติดสูทของผู้ประกอบการไทย และเลือกใช้โครงสร้างบูธจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ เช่น โครงสร้างเหล็กและผ้า รวมถึงการใช้วัสดุและผู้รับเหมาจากท้องถิ่น เพื่อลดมลพิษและการปล่อยคาร์บอนจากการขนส่ง ทำให้ Thailand Pavilion สามารถเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 2.610 ตันคาร์บอน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 158 ต้น และถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของทีเส็บ ในการผลักดันอุตสาหกรมไมซ์ไทยให้จัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการจัดงานไมซ์อย่างยั่งยืนในระดับโลก