จากความสำเร็จของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้วางระบบการจัดการขนส่งวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 กระจายสู่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ด้วยระบบความเย็นที่ได้มาตรฐาน และตรวจสอบได้ จนทำให้คนไทยเชื่อมั่นได้ถึงคุณภาพของวัคซีนที่ได้รับทุกหยาดหยด
รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย หัวหน้าศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คือ เบื้องหลังความสำเร็จของการจัดการโลจิสติกส์วัคซีน COVID-19 คุณภาพจาก "ห้องเย็น" สู่ "ห้องยา" โรงพยาบาลทั่วประเทศดังกล่าว
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศูนย์การจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทานสุขภาพ (LogHealth) ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ไม่เคยหยุดยั้งที่จะพัฒนาระบบโลจิกติกส์เวชภัณฑ์ไทยสู่มาตรฐานโลก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชาติ
โดยได้มีการจัดการเรียนการสอน และวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา ตลอดจนให้บริการวิชาการ อบรมให้ความรู้ด้านโลจิสติกส์เวชภัณฑ์แก่ประชาชนทั่วไป
มาถึงปัจจุบัน ในขณะที่โลกยังไม่หายดีจากวิกฤติ COVID-19 แต่ก็ต้องมาเผชิญกับวิกฤติพลังงาน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับธุรกิจด้านระบบกระจายสินค้า (Logistics) โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทเวชภัณฑ์ หรือ "ยารักษาโรค" ที่ถือเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของชีวิตมนุษย์ รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย เชื่อมั่นว่า ระบบโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ไทยจะไม่ถึงทางตัน หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันฟันฝ่า
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ LogHealth ได้ร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดสัมมนาออนไลน์ Innovation for change ปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส หัวข้อ "โลจิสติกส์กับการจัดการเวชภัณฑ์เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างมูลค่าในธุรกิจ" เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ไทยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในการสัมมนาออนไลน์ดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ได้ให้ทรรศนะว่า ธุรกิจโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ไทย ยังมีโอกาสเติบโตต่อไปได้อีกมากมาย แม้ในทุกวันนี้จะยังไปไม่ถึงยูนิคอร์น เหมือนธุรกิจโลจิสติกส์ขนส่งพัสดุทั่วไป
แต่หากทุกฝ่ายมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาเชื่อมั่นว่าธุรกิจโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ไทยสามารถไปต่อได้อย่างแน่นอน
โดย LogHealth มหาวิทยาลัยมหิดล ไม่เคยนิ่งนอนใจ ต่อยอดศึกษาค้นคว้าวิจัยจนสามารถพัฒนาระบบเพื่อกู้วิกฤติพลังงานโลกไว้เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งปัญหาต้นทุนขนส่งที่สูงขึ้นจากวิกฤติพลังงานโลก จะสามารถเยียวยาได้หากมีการ "ยกเครื่อง" ระบบเส้นทางการขนส่งกระจายเวชภัณฑ์ไทยเสียใหม่ โดยรวมเอาเส้นทางที่ใกล้เคียงเข้าไว้ด้วยกัน
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย ได้เสนอให้มี "Centralized Warehouse Logistics" หรือ "คลังกลาง" ของโลจิสติกส์ในแต่ละพื้นที่คอย "ส่งต่อ" เวชภัณฑ์สู่โรงพยาบาลจุดหมาย และจะยิ่งมากด้วยประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หากได้มีการใช้ระบบ AI เข้ามาเป็นตัวช่วย
"ขณะนี้ระบบโลจิสติกส์เวชภัณฑ์ใหม่นี้ได้มีการวิจัยและทดสอบจนมั่นใจแล้วว่าจะช่วยกู้วิกฤติพลังงานโลกได้ แต่ยังติดกับระบบระเบียบการตรวจรับแบบเดิมที่ยังขาดความยืดหยุ่น โดยจะได้มีการเสนอภาครัฐพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบาย เพื่อให้เกิดผลในเชิงปฏิบัติต่อไป" รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงพรรณ กริชชาญชัย กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วรรณภา อินทรประเสริฐ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210