บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ชูหลักการ 3Rs ลดปริมาณการใช้น้ำ (Reduce) นำน้ำที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และนำน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) ควบคู่กับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต เกิดประสิทธิภาพคุ้มค่าสูงสุด เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากธรรมชาติ สอดรับแนวทาง SDGs
นายสิริพงศ์ อรุณรัตนา ประธานผู้บริหารฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจสัตว์บก ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ซึ่งต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต จึงตระหนักอย่างยิ่งถึงความสำคัญของการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า โดยยึดหลักการ 3Rs คือ 'Reduce' ลดปริมาณการใช้น้ำ 'Recycle' นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยผ่านกระบวนการบำบัดแล้ว 'Reuse' นำน้ำมาใช้ซ้ำ กลับมาใช้ในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตในธุรกิจอาหารสัตว์บก เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างพื้นถนน เป็นต้น นอกจากนี้ โครงการไบโอแก๊สในฟาร์มสุกร สามารถนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจนได้ค่ามาตรฐาน แบ่งปันให้แก่ชุมชนรอบฟาร์มเพื่อใช้ในการเกษตร เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ยูคาลิปตัส ฯลฯ
บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของการสำรองน้ำ 'Reserve' ซึ่งบริษัทฯดำเนินโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ภายใต้โครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง
นอกจากนี้ จากการที่บริษัทฯนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ เพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์ม และโรงงานแปรรูปอาหาร อาทิ การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ ด้วยการนำระบบลมเย็น (Air Chill) มาใช้แทนการใช้น้ำเย็น (Water Chill) เพื่อลดอุณหภูมิไก่ ซึ่งสามารถลดการใช้น้ำลงประมาณ ร้อยละ 15 เทียบกับการผลิตเดิม การใช้ระบบกรองน้ำแบบ UF กับโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ เพื่อใช้กรองน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว หมุนเวียนกลับมาใช้ในระบบทำความเย็น เป็นต้น
จากความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการน้ำตลอดห่วงโซ่การผลิต ทำให้ในปี 2564 ซีพีเอฟสามารถลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลงได้ร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2558 จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปี 2568 ที่จะลดการนำน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิตลง ร้อยละ 30 นอกจากนี้ ปริมาณน้ำที่นำมาใช้ซ้ำและใช้ใหม่ ร้อยละ 44 ของปริมาณน้ำใช้ทั้งหมด ทำให้ในปีที่ผ่านมา มีปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อตันผลผลิตลดลงจากจาก 17.3 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน ลงเหลือ 15.28 ลูกบาศก์เมตรต่อตัน
"บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs)" นายสิริพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ จากที่บริษัทฯให้ความสำคัญและตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน จึงได้ร่วมเป็นเจ้าภาพสนับสนุนการจัดงานสัมมนานานาชาติ "Water And Waste Management International Conference & Expo Thailand : Water for Life" ที่จัดโดย โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนตามแนวพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16-17 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำจากทั่วโลกมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยในงานนี้ ซีพีเอฟได้ร่วมจัดนิทรรศการกระบวนการดำเนินงานในรูปแบบธุรกิจสีเขียว (Green Business) และการนำเทคโนโลยีมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อบริหารจัดการน้ำในทุกกระบวนการ การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบการหมักก๊าซชีวภาพ (BIOGAS) 100% คำนึงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าสูงสุดตลอดกระบวนการผลิต ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งชาวไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก