บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ผู้นำในการให้บริการด้านการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษที่เน้นความปลอดภัยสูง เผยปัญหา "น้ำมันแพง" จากข้อมูลของ PttOR พบราคาน้ำมันดีเซลพุ่งกว่า 30% จากปีก่อน ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากค่าน้ำมันเป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายหลักของธุรกิจขนส่ง แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยพยุงราคาดีเซล แต่ KIAT ยังคงต้องมีมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงเพื่อรับมือกับผลกระทบดังกล่าวในระยะยาว ล่าสุดได้ปรับการดำเนินธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารการขนส่ง เพื่อควบคุมต้นทุนในภาพรวม และรักษามาตรฐานการขนส่งสูงสุด ทั้งนี้ ยังติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพอย่างทันท่วงที คาดภายในปี 2565 KIAT จะเติบโตรวมกว่า 20%
นางสาวมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิงมีสัดส่วนประมาณ 35% ของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จากข้อมูลของ PttOR พบราคาน้ำมันดีเซลพุ่งสูงถึงกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเพื่อควบคุมต้นทุนในภาพรวมและรักษามาตรฐานการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ KIAT ได้กำหนดแนวทางของมาตรการในการรับมือ พร้อมแผนรับมือกับสถานการณ์ราคาพลังงานที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว โดยเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่กับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารการขนส่งและเฝ้าติดตามการเปลี่ยนแปลงของราคาพลังงานและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลกระทบกับเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
"แต่ละเดือน KIAT ใช้น้ำมันในการขนส่งให้บริการลูกค้าประมาณ 400,000 - 450,000 ลิตร โดยในปี 2565 นี้ เรามีเป้าหมายเดินรถด้วยอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยอยู่ที่ 3.90 กิโลเมตร/ลิตร และกำลังพยายามปรับให้ดีขึ้นเป็น 4 กิโลเมตร/ลิตร โดยได้มีการปรับการดำเนินงานภายใต้แนวคิดที่เน้นประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและการควบคุมดูแลพนักงานขับขี่ ด้วยการจัดอบรมหลักสูตรขับขี่ที่ช่วยประหยัดเชื้อเพลิง การตั้งเป้าหมายในการขับขี่ให้ประหยัดน้ำมัน พร้อมเสริมแรงจูงใจให้กับพนักงานที่ขับขี่ประหยัดน้ำมัน เช่น การมอบรางวัลหรือสิ่งตอบแทนให้กับพนักงานที่สามารถทำตามเป้าที่บริษัทกำหนดได้ รวมถึงมีการคุมเข้มไม่ให้ติดเครื่องยนต์ระหว่างรอโหลดสินค้า เนื่องจากจะทำให้เปลืองพลังงานเชื้อเพลิงโดยเปล่าประโยชน์ เป็นต้น"
นอกจากนี้ KIAT ยังได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการการขนส่ง โดยการนำระบบติดตามรถ GPS Real Time เข้ามาใช้ เพื่อควบคุมการเดินรถตามเส้นทางที่กำหนด หรือติดตามรถกรณีรถจอดในที่ผิดปกติและไม่เป็นไปตามจุดจอดที่กำหนด ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมการเดินรถของบริษัทฯ สามารถติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมรถทุกคันได้ในทันที เพื่อความปลอดภัยของทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนโดยรวม ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวมีส่วนช่วยอย่างมากในเรื่องของการควบคุมการใช้เชื้อเพลิงให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจได้ทันท่วงที KIAT ยังคงติดตามสถานการณ์ราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ LNG ทดแทน ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ เช่น ความคุ้มค่าในการลงทุน จุดให้บริการสถานีเติมก๊าซ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการศึกษาและติดตามเกี่ยวกับรถบรรทุกไฟฟ้าพลังงานสะอาด (EV) ซึ่งหากในอนาคตมีสินค้าหรือบริการที่ตอบโจทย์ KIAT ก็พร้อมที่จะลงทุน เพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ ทั้งยังเป็นการสนองนโยบาย Green Logistics ในการมีส่วนช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้อีกด้วย
นางสาวมินตรากล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลและมาตรการอื่น ๆ ที่อาจจะมีออกมาช่วยเหลือในอนาคต แต่เพื่อควบคุมต้นทุนในภาพรวมและเพื่อรักษามาตรฐานการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ KIAT จึงยังเตรียมพร้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้พร้อมรับกับสถานการณ์ราคาพลังงานที่ยังคงเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยภายนอกที่นอกเหนือการควบคุม ถึงแม้สัญญาขนส่งที่บริษัทฯ ทำกับคู่สัญญาจะมีสูตรการคำนวณตามราคาน้ำมันที่ผันผวน แต่หากราคาน้ำมันในตลาดมีการปรับสูงขึ้นจากที่ได้มีการตกลงสัญญากัน บริษัทก็จะต้องเป็นผู้แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นก่อนที่จะได้ปรับเพิ่มอัตราค่าบริการในเดือนต่อ ๆ ไป KIAT จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการดำเนินงานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
อนึ่ง ภาพรวมของการดำเนินธุรกิจของ KIAT ในขณะนี้เป็นไปตามแผนธุรกิจที่ตั้งไว้ มั่นใจภายในปี 2565 จะสามารถเติบโตรวมกว่า 20% ตามเป้าหมาย ทั้งจากธุรกิจหลักในการให้บริการการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษ รวมไปถึงรายได้จากธุรกิจของบริษัทลูกอย่าง บริษัท เคจีพี จำกัด ที่เพิ่งเปิดตัวบริการใหม่ "สิบล้อ ลีสซิ่ง" สินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการในสภาวะเศรษฐกิจที่ทุกคนต้องควบคุมต้นทุนและรัดเข็มขัด นอกจากนี้ เคจีพี ยังมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอุปกรณ์ตรวจจับอาการหลับในและเสียสมาธิของพนักงานขับรถ เพื่อติดตั้งในรถขนส่ง ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจขนส่งหันมาให้ความสนใจ นางสาวมินตรา กล่าวทิ้งท้าย