ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ…ส่งออกไทยไปญี่ปุ่นหดตัว 0.6%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday June 27, 2022 09:55 —ThaiPR.net

ค่าเงินเยนอ่อนค่าต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ…ส่งออกไทยไปญี่ปุ่นหดตัว 0.6%

สถานการณ์ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงเรื่อยๆ จนแตะสถิติต่ำสุดในรอบกว่า 24 ปี แตะที่ระดับ 136.24 เยนต่อดอลลาร์ฯ (22 มิถุนายน 2565) ลดลงราวร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2565 โดยค่าเงินเยนอ่อนค่ามากที่สุดในบรรดาสกุลเงินหลักของโลกอีกทั้งยังมีสัญญาณอ่อนค่าต่อเนื่องตลอดปี จากแรงกดดันการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่ปรับตัวสูงสุดในรอบเกือบ 7 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งการอ่อนค่าของเงินเยนยิ่งซ้ำเติมการนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศมีราคาเร่งตัวขึ้นอีกจะเห็นได้จากดัชนีราคาสินค้านำเข้าของญี่ปุ่น (Import Price Index: ImPI) เร่งตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 167.2 ในเดือนพฤษภาคม หรือเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 43.3

ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินเยนกระทบโดยตรงต่อคู่ค้าญี่ปุ่นรวมถึงไทย เนื่องจากญี่ปุ่นต้องเผชิญราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้นตามระดับการอ่อนค่าของเงินเยนตลอดปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ระดับผลกระทบขึ้นอยู่กับความจำเป็นของสินค้าที่ผู้นำเข้าญี่ปุ่นต้องพิจารณาจากคู่ค้าแต่ละประเทศ กลุ่มที่ 1 กระทบมาก: สินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูงอยู่แล้วจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นตามค่าเงินเยนที่อ่อนค่า ผู้บริโภคอาจชะลอการซื้อออกไป อาทิ สมาร์ทโฟน โน้ตบุ๊ก เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ยาสูบ เฟอร์นิเจอร์ ของเล่น ไวน์ รถยนต์ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง เครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มที่ 2 กระทบปานกลาง: สินค้าจำเป็นในการบริโภคแม้มีราคาสูงแต่ผู้บริโภคจะรับภาระนี้ไว้ อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ เหล็ก ทองแดง อาหาร ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ กลุ่มที่ 3 กระทบกระทบน้อย: สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต ผู้ผลิตจำเป็นต้องประคองกำลังการผลิต อาทิ ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ICs ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางพารา/ผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก

  • มิติโครงสร้างการค้า: เมื่อเทียบกับคู่ค้าของญี่ปุ่นในเอเชีย ไทยเป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบปานกลางด้วยข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างการค้าที่ญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาไทย โดยในภาพรวมคู่ค้าของญี่ปุ่นต้องเตรียมรับมือกับการลดลงของคำสั่งซื้อสินค้ามากที่สุด คือ เวียดนามและจีนที่ญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นส่วนใหญ่ร้อยละ 40 ประกอบด้วย เสื้อผ้า รองเท้า สมาร์ทโฟน รถยนต์ กระเป๋า ของเล่น เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน ยานยนต์ ตามมาด้วยไทยและมาเลเซียที่มีโครงสร้างการค้าคล้ายคลึงกัน โดยญี่ปุ่นนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือยร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นสินค้าจำเป็นในภาคการผลิตและการบริโภคในสัดส่วนใกล้เคียงกันและญี่ปุ่นน่าจะยังต้องการสินค้าเหล่านี้อยู่ อาทิ เนื้อไก่ ปลาแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ขณะที่เกาหลีใต้ ไต้หวันและอินโดนีเซียน่าจะกระทบน้อยที่สุดเพราะสินค้าส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่สินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเพื่อการผลิตถึงร้อยละ 70 สินค้าส่วนใหญ่แตกต่างจากคู่ค้ารายอื่น อาทิ ICs ไดโอด เม็กพลาสติก ทองแดง
  • มิติค่าเงินเยนเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาค: สินค้าไทยในกลุ่มบริโภคและสินค้าขั้นกลาง หรือที่เกี่ยวเนื่องกับซัพพลายเชนยังต้องแข่งขันกับแหล่งนำเข้าอื่นของญี่ปุ่น โดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีอย่างมาเลเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวันและจีน ซึ่งค่าเงินเยนเทียบสกุลเงินในเอเชียพบว่ามีระดับการอ่อนค่าตั้งแต่ร้อยละ 9 ถึงร้อยละ 13 ขณะที่ค่าเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินบาทกลับอยู่ในกลุ่มอ่อนค่าที่สุดถึงร้อยละ 10.44 เมื่อเทียบกับต้นปี 2565 ยิ่งทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงโดยเปรียบเทียบ แม้ระดับการอ่อนค่าของเงินเยนเมื่อเทียบกับบาทยังคงอ่อนค่าน้อยกว่าเวียดนาม (เงินเยนเทียบเงินด่องเวียดนามอ่อนค่าร้อยละ 14.68) และอินโดนีเซีย (เงินเยนเทียบเงินรูเปียะห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่าร้อยละ 12.08) แต่หากเทียบกับคู่แข่งอย่างมาเลเซีย (เงินเยนเทียบเงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าร้อยละ 9.34) ที่มีโครงสร้างการค้าใกล้เคียงไทย แล้วสินค้าไทยยิ่งมีราคาแพงกว่าโดยเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ผลของค่าเงินยังทำให้ไทยต้องแข่งกับสินค้าเกาหลีใต้ ไต้หวันและจีน ล้วนเป็นกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีอย่าง ICs ชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงเม็ดพลาสติก ซึ่งบางประเทศได้อานิสงส์จากการเปิดตลาด RCEP เมื่อต้นปี

ระดับการอ่อนค่าของเงินเยนส่งผลต่อคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่นในเอเชียตะวันออกและอาเซียน

ในขณะที่การนำเข้าจากญี่ปุ่นได้อานิสงส์ต้นทุนต่ำจากค่าเงินเยนอ่อนค่า

ท่ามกลางภาวะเงินเยนอ่อนค่าต่อเนื่องอานิสงส์โดยอ้อมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถจัดซื้อวัตถุดิบและสินค้าทุนจากญี่ปุ่นในราคาที่ต่ำลง ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมากถึงร้อยละ 11.7 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย เป็นแหล่งนำเข้าลำดับ 2 ในช่วง 4 เดือนแรกปี 2565 มีมูลค่านำเข้า 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าจากจีนร้อยละ 23.2 สหรัฐฯ ร้อยละ 5.7 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร้อยละ 5.6 และมาเลเซียร้อยละ 4.9 ตามลำดับ ซึ่งหากพิจารณาโครงสร้างการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่น พบว่า กระจุกตัวในสินค้าขั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (พึ่งพาการนำเข้าจากญี่ปุ่นร้อยละ 16.8 ของการนำเข้าสินค้าชนิดนี้ของไทย) เครื่องจักรกล (ร้อยละ 26.6) เครื่องจักรไฟฟ้า (ร้อยละ 19.4) แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 13.8) เหล็กและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ 36.2) อุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 31.4) เครื่องมือทางการแพทย์ (ร้อยละ 28.2) ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก (ร้อยละ 20.2) ไดโอด (ร้อยละ 21.4) วงจรพิมพ์ (ร้อยละ 11.6) ส่วนประกอบรถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 17) เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้บริโภคไทย อาทิ รถยนต์นั่ง (พึ่งพาการนำเข้าจากญี่ปุ่นร้อยละ 26) นาฬิกา (ร้อยละ 11) เครื่องสำอาง (ร้อยละ 14) อุปกรณ์สำนักงาน (ร้อยละ 30) และกล้อง (ร้อยละ 37)

จากการประเมินผลกระทบต่อการส่งออก-นำเข้าของไทยดังกล่าวอยู่บนเงื่อนไขการชำระค่าสินค้าเป็นสกุลเงินบาท-เยน ซึ่งส่วนใหญ่ไทยยังคงชำระค่าสินค้าให้ญี่ปุ่นด้วยเงินดอลลาร์ฯ ร้อยละ 46.5 ของการนำเข้าของไทยจากญี่ปุ่น (มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 51.8 ในปี 2544) ในขณะที่ปัจจุบันการใช้เงินบาทและเงินเยนในการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมีบทบาทมากขึ้น โดยการใช้เงินเยนมีสัดส่วนที่ร้อยละ 35.3 (ใกล้เคียงกับอดีตมีสัดส่วนร้อยละ 38.5) และการใช้เงินบาทมีส่วนส่วนเพิ่มมาเป็นร้อยละ 17.5 (จากร้อยละ 5.9) อย่างไรก็ดี ในด้านการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นก็พึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ฯ กว่าร้อยละ 54.5 (จากร้อยละ 7.18 ในปี 2554) เงินเยน 25.8 (จากร้อยละ 33.4) และเงินบาท 19.4 (จากร้อยละ 6.2) ซึ่งความซับซ้อนของระบบการชำระเงินทำให้อานิสงส์ที่ได้จากค่าเงินเยนอ่อนค่าในครั้งนี้มีไม่มากนัก

การนำเข้าของไทยจากแหล่งสำคัญและการชำระเงินค่าสินค้าของไทย

แหล่งนำเข้าของไทย 10 อันดับแรก (% ของการนำเข้าของไทย)สัดส่วนสกุลเงินท้องถิ่น ที่ใช้ชำระเงินค่าสินค้านำเข้าการนำเข้าสินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิต* (% ของการนำเข้าจากแต่ละประเทศ)
1. จีน (23.2%)เงินหยวน 6.8%*50.0%: ICs ชิ้นส่วนยานยนต์ ไดโอด
2. ญี่ปุ่น (11.7%)เงินเยน 35.3% เงินบาท 17.5%63.6%: ชิ้นส่วนยานยนต์ ICs ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์ทองแดง
3. สหรัฐฯ (5.7%)ดอลลาร์ฯ 100%46.9%: ICs ชิ้นส่วนยานยนต์ กระดาษ
4. UAE (5.6%)N.A.8.2%: ผลิตภัณฑ์เหล็ก อะลูมิเนียม เคมีภัณฑ์
5.มาเลเซีย (4.9%)เงินบาท 9.2% ริงกิต 2.3%52.0%: สมาร์ทการ์ด ICs ไดโอด
6. ไต้หวัน (4.0%)N.A.80.9%: ICs ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก/ทองแดงไดโอด PCB
7. เกาหลีใต้ (3.5%)N.A.71.8%: ICs ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก PCB
8. อินโดนีเซีย (3.0%)เงินบาท 9.3% เงินเยน 2.6%33.8%: ชิ้นส่วนยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทองแดง เคมีภัณฑ์
9. สิงคโปร์ (2.8%)เงินบาท 6.9% ดอลลาร์สิงคโปร์ 4.9%58.8%: สมาร์ทการ์ด ICs กระดาษ
10.เวียดนาม (2.7%)เงินบาท 18.7% เงินเยน 1.5%43.8%: ลวดทองแดง สมาร์ทการ์ด ICs
หมายเหตุ: N.A.= ไม่มีข้อมูล, *สินค้าที่เป็นชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากการจัดกลุ่มของศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มา: Trademap.org, กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

โดยสรุป ในเวลานี้แม้ค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องด้วยปัจจัยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของโลก บวกกับแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศยิ่งกดดันการผลิตและการบริโภคของญี่ปุ่น คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2565 จะยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 2.1 ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีคงต้องจับตาทิศทางค่าเงินเยน รวมถึงปัจจัยภายนอกจากเศรษฐกิจโลกอาจกดดันเศรษฐญี่ปุ่นในช่วงโค้งสุดท้ายของปีและส่งผลชัดเจนขึ้นในปี 2566 อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสถานการณ์ในเวลานี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกของไทยในปีนี้ได้รับผลกระทบทางตรงค่อนข้างจำกัด ที่มาจากคำสั่งซื้อในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยที่ลดลง ขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ของไทยเป็นสินค้าบริโภคและสินค้าในห่วงโซ่การผลิตที่จำเป็นแต่ต้องเผชิญความท้าทายจากคู่แข่งในเอเชียที่มีความได้เปรียบด้านค่าเงินกว่าไทยและมีศักยภาพด้านการผลิตสินค้าเทคโนโลยีที่ซ้อนทับกับไทยในกลุ่ม ICs ชิ้นส่วนยายนต์ เม็ดพลาสติก รวมแล้วไทยสูญเสียโอกาสส่งออกคิดเป็นมูลค่า 500-800 ดอลลาร์ฯ ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงเหลือของปีชะลอตัวลงบวกกับผลของฐานที่สูงอาจฉุดส่งออกไทยไปญี่ปุ่นตลอดปี 2565 หดตัวที่ร้อยละ (-) 0.6 มีมูลค่าส่งออกที่ 24,800 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการที่หดตัวร้อยละ (-) 3.0 ถึงขยายตัวร้อยละ 0.6 มีมูลค่า 24,200-25,100 ล้านดอลลาร์ฯ) ขณะที่การนำเข้าของไทยได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิตของญี่ปุ่นที่มีราคาต่ำลงโดยเปรียบเทียบ แต่ด้วยฐานที่สูงอย่างมากในปีก่อนทำให้ทั้งปี 2565 เติบโตเพียงร้อยละ 0.4 มีมูลค่า 35,800 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการนำเข้าที่หดตัวร้อยละ (-) 1.6 ถึงขยายตัวร้อยละ 2 มีมูลค่า 35,100-36,400 ล้านดอลลาร์ฯ) โดยสุทธิไทยยังคงขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 1.0 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสกุลเงินที่ใช้ชำระค่าสินค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่นด้วย ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของนำเข้าและส่งออกยังคงชำระด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ