ประธานซีพีชี้แนวทางพัฒนาเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 21, 2008 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--
เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยได้แนะนำและชี้ให้เห็นถึงทิศทางและแนวทางการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัตน์ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลการผลิตบนฐานการวิจัยและพัฒนา หลักการจัดทำแผนการพัฒนาประเทศบนฐานของเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม การบริหารความเสี่ยง และหลัก 2 สูง
นายธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวว่า เครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกขณะนี้มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกคือสหรัฐอเมริกา กลุ่มที่ 2 ถ้ายุโรปตะวันออกรวมกับตะวันตก ก็จะมีพลังแข็งแกร่งกว่าประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน กลุ่มที่ 3 คือ จีน ที่มีประชากรประมาณ 1,600 ล้านคน หากสั่งซื้อสินค้าใดก็มีผลกระทบไปทั่วโลก กลุ่มที่ 4 คือ อินเดีย ญี่ปุ่น และประเทศในอาเซียน รวมทั้งอินโดนีเซียซึ่งมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และกลุ่มที่ 5 เป็นประเทศที่ทั่วโลกเริ่มไปลงทุนคือบราซิล และเมื่อรวมกับอาร์เจนติน่าจะช่วยเพิ่มพลังให้สูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยควรให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด และหาแนวทางเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศเหล่านี้ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยด้วย
นายธนินท์ มองว่าสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าหลักของเมืองไทย เปรียบเสมือนบ่อน้ำมันของประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งน้ำมันบนดินของไทยใช้ไม่มีวันหมดเพราะใช้แล้วเกิดใหม่ โดยไทยมีสินค้าเกษตรที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของโลกถึง 3 ประเภท ได้แก่ ข้าว ยางพารา และกุ้ง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าสำคัญ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย โดยปัจจุบันสินค้าเกษตรมิใช่เป็นอาหารสำหรับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารของเครื่องจักรด้วย
นายธนินท์ได้ชี้ถึงแนวทางการปฏิรูปพื้นที่เพาะปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตเกษตรและเพิ่มรายได้ประเทศว่า ควรมีการปฏิรูปที่ดิน โดยการพัฒนาระบบชลประทาน ปรับปรุงดิน หาเมล็ดพันธุ์ที่ดี ใช้เทคโนโลยีทันสมัย จะช่วยให้ได้รับผลผลิตที่สูงขึ้นและมีความเสี่ยงน้อย รวมทั้งพิจารณาการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา และปาล์มเพื่อเพิ่มรายได้ของภาคเกษตรกรรม
“พูดถึงน้ำมันบนดิน..ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 130 ล้านไร่ มีพื้นที่ทำนา 67 ล้านไร่ เราแบ่งเอาพื้นที่จำนวน 25 ล้านไร่ มาปฏิรูปให้มีระบบชลประทานทันสมัยและครบถ้วนเพื่อใช้ปลูกข้าว หาพันธุ์ข้าวที่ดี เอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่สูงขึ้นประมาณ 800 กิโลกรัมต่อไร่”
ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 30 ล้านไร่ใช้ปลูกยางพารา เพราะจีน อินเดีย ยุโรปตะวันออก มีความต้องการใช้ยางพารามากขึ้น ทำให้ยางพารามีราคาสูงขึ้น และพื้นที่อีก 12 ล้านไร่ซึ่งเป็นที่ลุ่มควรใช้ปลูกปาล์มเนื่องจากราคาปาล์มจะมีราคาเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ควรให้มีการส่งเสริมการสร้างผลผลิตทางการเกษตรแบบครบวงจร มีการวางแผนอย่างรอบคอบระมัดระวัง เข้าใจถึงกลไกการตลาด เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเพราะเป็นสิ่งที่มีชีวิต และถ้ามีการผลิตสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมด้วยแล้ว ยิ่งต้องวางแผนตั้งแต่เริ่มต้นของการทำการเกษตรจนถึงอุตสาหกรรมการแปรรูป ทั้งนี้ จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
นายธนินท์ มีความเห็นว่าควรให้ความสำคัญในการบริหารความเสี่ยง เพื่อลดภาระของเกษตรกรไทย ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่มีทุนสูง และไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงต่างๆ ไว้ได้ จึงควรให้นายทุนเข้ามารับผิดชอบต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์วิจัยคัดเลือกหาพันธุ์ และสารอาหารที่ดีที่สุด ตลอดจนวิธีการเลี้ยง ให้ได้รับการประกันราคาผลผลิตเพื่อให้แน่ใจว่าสุดท้ายเกษตรกรต้องได้รับผลกำไรอย่างแน่นอน เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรไทยลำบาก มีรายได้น้อย ความรู้น้อย แต่กลับรับความเสี่ยงสูงที่สุด ดังนั้นควรจะนำความเสี่ยงให้ไปอยู่กับผู้มีทุน ความรู้ เทคโนโลยี และมีความสามารถทางการตลาด สังคมจึงจะเป็นธรรม
ประธานเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้แนะนำให้ใช้หลัก 2 สูง เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน โดยการพัฒนาสินค้าเกษตร/ยกระดับราคาให้สูงขึ้น ซึ่งในอดีตยังไม่มีการกล่าวถึงรายได้ขั้นต่ำของเกษตรกรไทย ขณะที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น รายได้ของเกษตรกรไทยก็ยังต่ำเช่นเดิม เพราะเกรงว่าถ้าสินค้าเกษตรราคาสูง จะทำให้ค่าครองชีพสูง ทั้งที่ การยกระดับราคาสินค้าเกษตร จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น
นายธนินท์ กล่าวย้ำว่า ไม่มีประเทศใดในโลกที่กดราคาสินค้าเกษตรและไม่ปกป้องเกษตรกรของเขา เช่น ถ้าไทยจะส่งข้าวเข้าไปขายในราคาต่ำเพียง 10 กว่าบาท ขณะที่ราคาขายข้าวในประเทศญี่ปุ่นอยู่ที่ 200 บาท รัฐบาลญี่ปุ่นจะไม่ยอมรับสินค้าข้าวของไทยเข้าไปขาย เพราะญี่ปุ่นถือว่าสินค้าเกษตรเป็นน้ำมันบนดิน เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ ถ้าขายสินค้าเกษตรในราคาที่ถูกลงทรัพย์สมบัติของชาติก็จะลดลงเช่นกัน หรือประเทศที่ร่ำรวยของยุโรปรวมทั้งสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้สินค้าเกษตรตกต่ำเลย กลับพยายามทุกวิถีทางให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อปกป้องทรัพย์สมบัติและรายได้ของประเทศของเขาเอง เช่นเดียวกับประเทศในอาหรับถ้าไปทำให้ราคาน้ำมันของเขาลดลง คนในประเทศจะยากจนลงทันที ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศจึงต้องมีการนำเงินไปชดเชยไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรมีราคาต่ำลง
“ประเทศที่ร่ำรวยแล้วเขาจะใช้นโยบาย 2 สูง ผลิตผลทางการเกษตรที่เราผลิตได้เองเปรียบเสมือนทองคำแท่งที่อยู่ในคลังของธนาคารประเทศไทย ถ้าจะศึกษากันให้ลึกๆ ถ้าเรามีสินค้าที่ผลิตในประเทศเราเอง เราน่าจะให้มีราคาแพงให้เหมาะสมเท่ากับราคาน้ำมันของโลก และก็ไม่ควรมีราคาถูกกว่าทองคำ อันนี้เป็นความคิดเห็นของผม จากนั้นก็ต้องขึ้นเงินเดือน ปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกันซึ่งไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ ผมถือว่าปรับเพื่อความเป็นธรรมให้กับคนไทย”
เมื่อระดับราคาสินค้าเกษตรสูง ควรขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างแรงงานให้สูงขึ้นอย่างสมดุล เช่น ประเทศจีนและไต้หวัน ที่นอกจากจะไม่กดราคาสินค้าเกษตรแล้วยังขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ตามราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเงินเดือนข้าราชการจีนระดับธรรมดาตั้งแต่เปิดประเทศ ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า ขณะที่ข้าราชการไทยขึ้นเพียง 8 เท่าจากช่วงระยะเวลาเดียวกัน และผลที่ตามมาจากการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและขึ้นค่าแรง จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ มีความคล่องตัวและรัฐบาลจะมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหลายเท่าตัว สามารถนำไปขึ้นเงืนเดือนข้าราชการและพัฒนาประเทศได้
“หากเราต้องการพัฒนาประเทศไทย เราจึงต้องเริ่มจากการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการก่อน และต้องปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรไปตามกลไกตลาด ต้องปล่อยให้มีการขึ้นราคาตามความเป็นจริง อย่าเข้าไปควบคุมราคาสินค้า เมื่อเราควบคุมราคาน้ำมันไม่ได้ ทำไมเราต้องมาควบคุมราคาสินค้าเกษตร เราต้องขึ้นราคาสินค้าเกษตร ต้องขึ้นเงินเดือนให้สมดุลกัน ซึ่งหากเขาเห็นว่าสินค้าราคาแพงเกินไปเขาก็ประหยัดไม่ซื้อ แล้วเราก็ไปผลิตสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศของเรา รัฐบาลก็สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น”
นายธนินท์ ยังได้เสนอให้มีการวางแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงรุก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี และประเทศไทยมีโอกาสที่ดีเนื่องจากมีเสน่ห์ทำให้ต่างชาติชอบมาเที่ยวเมืองไทยกันมาก รวมทั้งคนไทยมีคุณสมบัติที่ได้เปรียบชาติอื่นอยู่หลายประการ นอกจากนี้ ควรใช้ศักยภาพของไทยดึงดูดให้คนเก่งจากทั่วโลกมาอยู่เมืองไทยเพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทย โดยรัฐบาลจัดสิทธิพิเศษด้านต่างๆ ให้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมธุรกิจบริการของไทยซึ่งมีจุดเด่นเป็นที่ยอมรับ เช่น โรงพยาบาลที่ทันสมัยสำหรับชาวต่างชาติในประเทศไทย และส่งนางพยาบาลไทยไปทำงานในต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ให้รัฐบาลกำหนดนโยบายสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ให้สามารถไปสู้กับต่างประเทศได้เหมือนที่รัฐบาลมีนโยบายดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และภาครัฐควรจัดตั้งธนาคารเพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจของนักธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กให้มากขึ้นด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ