งานวิจัย เป็นรากฐานของการพัฒนาสู่การพัฒนาใช้งานได้จริง ด้วยเหตุนี้ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ยักษ์ใหญ่ในวงการอุสาหกรรมผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยาง ภายใต้แบรนด์ "POP" จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) มอบรางวัลวิจัยดีเด่นโครงการ "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2022" (Chalit Industry Award 2022)" ขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาใช้งานได้จริง และส่งเสริมความมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสร้างโอกาสทางด้านการศึกษาให้กับน้องๆ นักศึกษา ให้มีขวัญและกำลังใจในการค้นคว้าและพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป...
ทั้งนี้ ได้จัดพิธีมอบมอบรางวัลวิจัยดีเด่นและใบประกาศเกียรติคุณฯ โครงการ "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2022" ให้กับน้องๆนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ไปเมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งน้องๆที่ได้รับรางวัลวิจัยดีเด่นจากโครงการ "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2022" (Chalit Industry Award 2022)" ปี 3 ซึ่งเป็นโครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่น ประจำปี 2565 ล้วนมีผลงานที่โดดเด่น โดยมี นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ ร่วมด้วย นางสาววิมลลักษณ์ ยงเห็นเจริญ กรรมการ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด เป็นผู้มอบรางวัลในครั้งนี้ ร่วมด้วย รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ รักษาการหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ร่วมด้วย ดร.ฐิตินันท์ มีทอง, ผศ.ดร.พร้อมพงษ์ ปานดี อาจารย์ประจำภาควิชา และคุณอัจฉรา จันทร์เจริญ ศิษย์เก่า ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุม ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ รักษาการหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)เปิดเผยว่า ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ได้รับความร่วมมือกับ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด มอบรางวัลวิจัยดีเด่นโครงการ "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2022" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว และในปีนี้ทางโครงการฯได้ก้าวขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการเปิดกว้างให้มีการนำเสนอผลงานที่หลากหลาย จากเดิมที่มุ่งเน้นเฉพาะผลงานวิจัยด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยในปีนี้มี 4 โครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่นทางด้านต่างๆ ที่ได้รับรางวัล Chalit Industry Award 2022 ได้แก่
1.) ระบบอัตโนมัติเพื่อตรวจสอบรอยเชื่อมรางด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Automatic system for ultrasonic testing of rail weld) โดย นายศิวัช แดงโกเมน นายศุภกานต์ สาระเกษตริน นางสาวณัชชา ธีระชาติ และ นายวรพล ศุภหัตถานุกุล
2.) การจำแนกโครงสร้างทางจุลภาคของโลหะอะลูมิเนียมผสมซิลิคอนหล่อด้วยเทคนิคโครงข่ายประสาทเทียมแบบคอนโวลูชันเชิงลึก (Classification of eutectic structure in hypoeutectic Al-Si alloys by deep learning methods) โดย นายสุกัลย์ มนัสถาวร และนายนุติ ท้าย
3.) การพัฒนาเทคนิคในการตรวจสอบรอยแตกบนรางรถไฟโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า โดยนายภาสกร สุขศรี นายวริทธิ์ ธีรวรุตม์ และนางสาวณัฐกานต์ คงโต
4.) การประเมินผลกระทบของการหยุดชะงักโซ่อุปทานภายใต้สถานการณ์COVID-19 โดย นายวิศรุต อุบลพูลผล และนางสาวกานต์พิชชา ปพนพัฒน์ศิริ
น้องๆที่ได้รับรางวัล Chalit Industry Award 2022 ได้แบ่งปันประสบการณ์และเล่าความรู้สึก
นายวิศรุต อุบลพูลผล กลุ่มการประเมินผลกระทบของการหยุดชะงักโซ่อุปทานภายใต้สถานการณ์COVID-19 เผยถึงความรู้สึกว่าเป็นงานวิจัยที่มีความท้าทาย เนื่องด้วยเป็นการประเมินโซ่อุปทานในระดับประเทศและได้ปรับใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาอย่างเต็มที่ และรู้สึกว่าสิ่งที่ได้ทำมีประโยชน์และสามารถนำไปปรับใช้ได้จริง รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัล รวมถึงการที่ได้รับรู้ว่างานวิจัยที่ทำเป็นที่ยอมรับจากคณาจารย์ในภาควิชา และบุคคลภายนอก
นางสาวณัฐกานต์ คงโต กลุ่มการพัฒนาเทคนิคในการตรวจสอบรอยแตกบนรางรถไฟโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า กล่าวว่า ขอบคุณสำหรับรางวัลที่มีขึ้นสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์สำหรับเด็กภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการบางมดนะคะ การมีรางวัลแบบนี้เป็นกำลังใจที่ดีในการทำงานวิจัยมากเลยค่ะ
นางสาวณัชชา ธีระชาติ กลุ่มระบบอัตโนมัติเพื่อตรวจสอบรอยเชื่อมรางด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Automatic system for ultrasonic testing of rail weld) กล่าวถึงรู้สึกว่า "ต้องขอบคุณคณะอาจารย์ที่ปรึกษาที่คอยให้คำปรึกษาและคำแนะนำต่างๆ ไปจนถึงให้โอกาสในการเข้าร่วมชิงรางวัลชลิต อินดัสทรี อวอร์ด และขอบคุณอาจารย์ท่านอื่นๆรวมไปถึงพี่ๆเพื่อนๆน้องๆและครอบครัวที่คอยให้กำลังใจในการทำโครงงานนี้อยู่เสมอค่ะ
โครงการ "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2022" ปี3 นับเป็นแรงผลักดันให้กับน้องๆ ที่ได้รับรางวัลได้พัฒนาผลงานของตนเองอย่างต่อเนื่องสู่ผลงานชิ้นโบว์แดงต่อไป อีกทั้งยังเป็นเสมือนรางวัลและกำลังใจให้กับน้องๆที่กำลังศึกษา ได้พัฒนางานของตนเอง ในการค้นคว้าและพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต...