หลวงพระบาง ... เมืองมรดกโลกที่น่าลงทุน

ข่าวท่องเที่ยว Friday March 21, 2008 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
การที่หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก ทำให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง อีกทั้งทางแขวงหลวงพระบางมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยแบ่งเป็นเขตต่างๆ คล้ายนโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทย ทำให้หลวงพระบางนับเป็นแขวงหนึ่งของลาวที่นักลงทุนไทยน่าเข้าไปลงทุนอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงการลงทุนด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์
รัฐบาลลาวมียุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาแขวงหลวงพระบาง ดังนี้
- พัฒนาหลวงพระบางให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของประเทศ ทั้งในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติ และประวัติศาสตร์
- ส่งเสริมให้หลวงพระบางเป็นพื้นที่แวะพักทางภาคเหนือของลาว เนื่องจากมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทั้งด้านโรงแรม ร้านอาหาร สภาพแวดล้อมที่ดีเหมาะกับการพักผ่อน
- สนับสนุนให้หลวงพระบางเป็นศูนย์กลางด้านศาสนา การศึกษา และสาธารณสุขในภาคเหนือของลาว
สำหรับแผนงานพัฒนาหลวงพระบางเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ข้างต้น ประกอบด้วย
- รักษาเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อเสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดี เหมาะกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้รัฐบาลลาวตั้งเป้าหมายอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาวไว้สูงถึงร้อยละ 7.5 ในปี 2553 ขณะที่โครงสร้างการผลิตสำคัญจะแบ่งเป็นภาคเกษตรกรรม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) อุตสาหกรรม ร้อยละ 18 และบริการ ร้อยละ 36
- รับประกันผลผลิตอาหารว่าจะเพียงพอในการรองรับนักท่องเที่ยวที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น
- พัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคมขนส่ง
- พัฒนาชนบทให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น โดยเฉพาะการผลิตในภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์
- พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อเป็นจุดขายใหม่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของแขวง ขณะที่การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวตามจุดต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินการภายใต้แผนที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ให้มากที่สุด
- พัฒนาคุณภาพการศึกษา การสาธารณสุข โดยเฉพาะการประกันสุขภาพเพื่อยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์
เขตส่งเสริมการลงทุนในแขวงหลวงพระบาง
เขต เมือง สิทธิประโยชน์ อัตราภาษีปกติ(%)
(หลังหมดสิทธิประโยชน์)
เขต 1 Viengkham, Phonxai, PakxengและPhukhoun ยกเว้นภาษีกำไรเป็นเวลา 7 ปี 10
(พื้นที่ธุรกันดาร ขาดระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน) มี 4 เมือง
เขต 2 Ngoi, Nambak, Pak Ou, Chomphet, Xieng NgeumและNan ยกเว้นภาษีกำไร 5 ปีแรก และเสียภาษีอัตราร้อยละ 7.5 ใน 3 ปีถัดมา 15
(พื้นที่ที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจำกัด) มี 6 เมือง
เขต 3 Luang Prabang ยกเว้นภาษีกำไรเป็นเวลา 2 ปี และเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ในอีก 2 ปีถัดมา 20
(พื้นที่ที่มีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครัน) มี 1 เมือง
ที่มา : Department for Promotion and Management of Domestic and Foreign Investment (DDFI)
สาขาการลงทุนที่มีศักยภาพที่นักลงทุนไทยควรเข้าไปลงทุนในแขวงหลวงพระบาง ได้แก่
- การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองและระหว่างแขวง รวมถึงการพัฒนาขยายพื้นที่เมืองใหม่ที่ Chomphet
- ธุรกิจโรงแรมและบ้านพักในทุกระดับ ปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้การก่อสร้างจำเป็นต้องอยู่นอกเขตเมืองหลวงพระบาง เนื่องจากองค์การ UNESCO ห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างใหม่ๆ ในเขตเทศบาลเมือง พื้นที่เหมาะสมในการก่อสร้างคือ บริเวณริมแม่น้ำโขงและอื่นๆ รอบเมืองหลวงพระบาง
- การลงทุนด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์เพื่อรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นผักปลอดสารพิษ ไร่องุ่น ไวน์ กระชายดำ ขิง เลี้ยงสัตว์ต่างๆ อาทิ โค แพะ และแกะ ปัจจุบันลาวมีพื้นที่มากและแรงงานเพียงพอ แต่ขาดเทคโนโลยีและตลาด พื้นที่เหมาะสมในการประกอบกิจการคือ เขตเมือง Phukhoun อยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร ห่างจากเมืองหลวงพระบางประมาณ 90 กิโลเมตร
- ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อาทิ การผลิตสินค้าหัตถกรรม และของที่ระลึกต่างๆ การถักทอเส้นเงิน สปา รวมถึงธุรกิจแฟรนไชส์ประเภทร้านสุกี้ ติ่มซำ ร้านกาแฟ ฯลฯ เนื่องจากปัจจุบันลาวยังไม่มีร้านอาหารประเภทนี้เลย รวมถึงร้านฟาสต์ฟู้ด เช่น McDonald, KFC เป็นต้น
- ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและสาธารณสุข อาทิ โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสอนภาษาต่างประเทศ โรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล
- การสร้างเขื่อนและผลิตกระแสไฟฟ้า ทั้งเขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็ก ปัจจุบันมีนักลงทุนไทยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างเขื่อนน้ำเซืองอยู่
อนึ่งในปี 2550 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในหลวงพระบางเกือบ 3.6 แสนคน ในจำนวนดังกล่าวเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2 แสนคน อันดับ 1 เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย รองลงมา ได้แก่ อังกฤษ เยอรมนี สหรัฐฯ นอกจากนั้นเป็นนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก อาทิ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากในปี 2550 รัฐบาลลาวได้ยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง (Visa) ให้นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และมีการเพิ่มเที่ยวบินกันระหว่างหลวงพระบางกับเชียงใหม่-ฮานอย-เสียมราฐ รวมทั้งเที่ยวบินไปกลับหลวงพระบาง-กรุงเทพฯ ด้วย อีกทั้งรัฐบาลลาวยังมีแผนจะปรับปรุง และขยายสนามบินหลวงพระบางใหม่ เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ได้ (ปัจจุบันรองรับได้เฉพาะเครื่องบินขนาดเล็ก ไม่เกิน 50-70 ที่นั่ง) ซึ่งจะส่งผลให้การท่องเที่ยวและกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวของหลวงพระบางเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ