"ทีวี ไดเร็ค" เริ่มจัดโครงสร้างสู่ซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี ซื้อหุ้น "ทีวีดี โบรกเกอร์ - ฟู้ด ออเดอรี่" จาก เอบีพีโอ บริษัทในเครือ ได้กำไรล้างขาดทุนสะสมและเตรียมความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 29, 2022 14:50 —ThaiPR.net

บมจ.ทีวี ไดเร็ค เดินหน้าเข้าซื้อกิจการ "ทีวีดี โบรกเกอร์" 100% และซื้อหุ้น 10.10% ใน "ฟู้ด ออเดอรี่" จากเอบีพีโอที่เป็นบริษัทในเครือ เพื่อปรับโครงสร้างธุรกิจทรานส์ฟอร์มสู่ "ซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี" และต่อยอดธุรกิจกลุ่มประกันและอาหาร ส่งผลให้เอบีพีโอเตรียมบันทึกกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้และล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมด เตรียมความพร้อมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต

นายทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) หรือ TVD เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการ (บอร์ด) ให้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมด 100% ในบริษัท ทีวีดี โบรกเกอร์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันภัย และซื้อหุ้น 10.10% ในบริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด เพื่อต่อยอดธุรกิจกลุ่มอาหาร จากบริษัท เอบีพีโอ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ซึ่งเป็นไปตามแผนงานที่จะปรับเปลี่ยนให้ TVD เป็นซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี ตามที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 บริษัทฯ ได้ขออนุมัติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2565 เพื่อเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TVDH อีกด้วย ดังนั้นบริษัทฯ จะเริ่มต้นการบริหารงานทั้งสามบริษัทนี้ (เอบีพีโอ, ทีวีดี โบรกเกอร์ และฟู้ด ออเดอรี่) ให้มีความชัดเจนทั้งแผนธุรกิจและการสร้างกลยุทธ์ โดยการเข้าดำเนินการครั้งนี้จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 245.1 ล้านบาท และว่าจ้างบริษัทประเมินราคาที่เหมาะสมตามขั้นตอน ซึ่งเอบีพีโอจะมีกำไรจากการขายหุ้นครั้งนี้ตามงบการเงินเฉพาะกิจการรวม 174.7 ล้านบาท และยังล้างขาดทุนสะสมได้ทั้งหมดอีกด้วย

การเข้าซื้อสองบริษัทนี้จากเอบีพีโอจะเป็นขั้นตอนแรกของ ซูเปอร์โฮลดิ้งส์ คอมปานี เพราะสามารถดำเนินการได้ทันทีด้วยมติของคณะกรรมการบริษัทฯ ซึ่งได้เตรียมแผนงานสนับสนุนทั้งสามบริษัทไว้แล้ว โดยเฉพาะบริษัท เอบีพีโอ จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจ B2B Business Process Improvement ให้บริการ 3 ประเภท ได้แก่ 1) การให้บริการ Contract Center ครบรูปแบบทั้ง Insource (เตรียมพนักงานให้ไปทำงานในพื้นที่และ Facility ของลูกค้า) Outsource (รับงานทั้งหมดออกมาทำในพื้นที่ของเรา) และ Facility Rental (มีสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหมดให้เช่าใช้โดยลูกค้ามีบุคคลากรอยู่แล้ว) ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับลักษณะความต้องการของลูกค้า 2) การให้บริการด้าน Software และ IT เป็นการให้บริการเขียนโปรแกรม ปรับปรุงโปรแกรม สร้าง Application การให้บริการออกแบบระบบ IT การวางระบบรักษาความปลอดภัย การออกแบบระบบการทำงาน จนถึง IT Architecture (สถาปัตยกรรมระบบการบริหารและใช้ประโยชน์จากข้อมูล) และที่สำคัญคือการบริหารฐานข้อมูลพร้อมนโยบายในเรื่อง PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ซึ่งโปรแกรมของบริษัทฯ อนุญาตให้เจ้าของข้อมูลกำหนดสิทธ์ได้ด้วยตนเอง 3) การให้บริการไดเร็ค เรสพร้อนส์เอเจนซี่ (Direct Response Agency) ที่จะทำงานในการสร้างฐานข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักต่าง ๆ และการสร้าง CUSTOMER LIFE TIME VALUE ซึ่งเป็นแก่นของการตลาดแบบตรงอีกด้วย

สำหรับการซื้อหุ้นทีวีดี โบรกเกอร์ ได้ดำเนินการว่าจ้างบริษัท Capital Advantage ทำการประเมินราคาที่เหมาะสม (Fair Value) ตามหลักการซื้อทรัพย์สิน ซึ่งมีมูลค่ากิจการสูงสุดอยู่ที่ 717 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคณะกรรมการบริษัทฯ ได้พิจารณาราคาเข้าซื้อกิจการที่เหมาะสมอยู่ที่ 210.7 ล้านบาท ทำให้เอบีพีโอจะบันทึกกำไรในงบการเงินเฉพาะกิจการ 155.7 ล้านบาท โดยบริษัท ทีวีดี โบรกเกอร์ จำกัด มีรายได้จากประกันภัย 3 กลุ่ม ได้แก่ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยรถ และประกันภัยกลุ่ม โดยมีจุดแข็งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และปิดการขายผ่านคอลล์เซ็นเตอร์ และมีแผนขยายจำนวนคอลล์เซ็นเตอร์และฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนงานการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทฯ ได้ว่าจ้าง APM หรือบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงินและอยู่ในระหว่างการดำเนินการต่างๆ เช่น การปรับระบบบัญชีเป็น PEA (PUBLIC Entity Accounting) จัดเตรียมระบบงาน IA (Internal Auditor) ตลอดจนการเตรียมคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ให้พร้อมในการขอยื่นไฟลิ่งในปีหน้า

ส่วนการเข้าซื้อหุ้น 10.10% ในบริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด จะใช้เงินลงทุน 34.34 ล้านบาท ตามการประเมินมูลค่ากิจการที่เหมาะสมอยู่ที่ 340 ล้านบาท โดยบริษัท สินวัฒนา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทระดมทุน Crown Funding ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเอบีพีโอจะมีกำไรในงบการเงินเฉพาะกิจการประมาณ 19 ล้านบาท บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด เป็นสตาร์ตอัพผู้พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์ม eatsHUB ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับชาติเพื่อให้บริการรับส่งอาหารที่เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จุดเด่นคือการที่มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เป็น Strategic Partner ทำให้เข้าถึงทรัพยากรที่ไม่ใช่เงินได้อย่างมากและรวดเร็ว และการเก็บค่าบริการ GP ต่ำกว่ารายอื่นในตลาดเพื่อให้ร้านอาหารที่ไม่สามารถจ่าย GP ให้แพลตฟอร์มอื่นๆ ได้มีโอกาสยกระดับการทำงานได้อย่างมีระบบและไม่สูญเสียจิตวิญญาณของการทำอาหาร โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มได้รับสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบ Matching Fund เป็นโครงการแรกจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) 45 ล้านบาท และมีเงื่อนไขการแปลงสภาพเป็นหุ้น 20% ภายในระยะเวลา 3 ปี ปัจจุบันได้จัดกิจกรรมโรดโชว์เพื่อแนะนำแพลตฟอร์มแก่ประชาชน และมีแผนขยายคลาวด์คิชเช่น (ครัวปรุงอาหารในแต่ละพื้นที่) รวมถึงขยายพื้นที่ให้บริการมากขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแรงและสร้างยอดขายให้ร้านอาหารได้อย่างยั่งยืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ