กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ปภ.
ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฏร์ธานี ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ระดับกลุ่มจังหวัด ณ ตำบลท่าดี อำเภอลานสภา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งยังเป็นการทดสอบสภาพความพร้อมของเครื่องมืออุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้น ให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงภัยพิบัติ และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย หากเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มในพื้นที่ นายวันชัย เชาวนะปัญจะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฏร์ธานี เปิดเผยว่า ภาคใต้ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจส่งผล ให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเดือดร้อน ทั้งยังสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฏร์ธานี จึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ระดับกลุ่มจังหวัดขึ้น ณ ตำบลท่าดี อำเภอลานสภา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้กำหนดขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนี้ การประชุมซักซ้อม แผนเตรียมความพร้อมในการฝึกซ้อมแผนฯ การประสานการปฏิบัติเมื่อเกิดภัย วิธีปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การฝึกซ้อมภาคทฤษฏีในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) และการจำลองสถานการณ์จริงภาคสนาม (Field Training Exercise : FTX) ประกอบด้วย การเฝ้าระวังสถานการณ์ การรายงานข่าวสาร การแจ้งเตือนภัย การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจส่วนหน้า การอพยพ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การตั้งศูนย์ช่วยเหลือ เพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเป็นการทดสอบศักยภาพความพร้อมของเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเกิด สาธารณภัย และกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงภัยพิบัติจากอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม และสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย หากเกิดภัยพิบัติขึ้นในพื้นที่ ทั้งนี้ ภายหลังจากการฝึกซ้อมแผนระดับกลุ่มจังหวัดแล้ว จะมีการสรุป และประเมินผลการซ้อมแผนฯ เพื่อนำปัญหา อุปสรรคไปปรับปรุงแก้ไขการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในพื้นที่ต่อไป