"บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR" ปลื้ม!! ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร ที่ "BBB-" ด้วยแนวโน้ม "Stable" สะท้อนผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจน้ำตาล ตลอดจนการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำตาลไปสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและบรรจุภัณฑ์ โดยผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในไตรมาส 1/2565 และคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งคาดรายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ 5.4-6 พันล้านบาท ในปี 2565-2567 ในขณะที่ EBITDA จะอยู่ที่ 800-1,000 ล้านบาท
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า นับเป็นข่าวดีของบริษัทฯ ล่าสุดบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทฯ ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ การเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และด้วยประสบการณ์ของ BRR ที่สั่งสมมายาวนานถึงเกือบ 60 ปี ในธุรกิจน้ำตาล โดยผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกอบด้วยน้ำตาลทรายดิบ และน้ำตาลทรายขาวสีรำ ทั้งนี้บริษัทได้เริ่มขยายการผลิตไปสู่ผลิตภัณฑ์น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประมาณ 80% ของผลผลิตน้ำตาลของบริษัทได้ส่งออกผ่านตัวแทนการส่งออกระหว่างประเทศ ส่วนสัดส่วนที่เหลือประมาณ 20% เป็นการจัดจำหน่ายภายในประเทศ
แม้ว่าบริษัทจะเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายเล็ก แต่บริษัทมีประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อย(Sugar Yield) สูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 จากจำนวน 57 โรงงานน้ำตาลในประเทศ ซึ่งผลผลิตน้ำตาลที่มีคุณภาพของบริษัทมาจากอ้อยคุณภาพดีที่อยู่ในรัศมี 40-50 กิโลแมตรรอบโรงงาน
โดยทริสเรทติ้ง ระบุว่าบริษัทได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาล เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยและผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ โดยธุรกิจเกี่ยวเนื่องหลักคือธุรกิจผลิตไฟฟ้า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณ 9-10% ของรายได้รวมของบริษัท โดยมีโรงไฟฟ้า 3 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้ารวมที่ขนาด 29.7 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจำนวน 16 เมกะวัตต์ โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีรายได้มั่นคง ซึ่งจะช่วยลดทอนความผันผวนของราคาน้ำตาลลงได้
นอกจากนี้ ยังได้ขยายไปสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ จากกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ของธุรกิจน้ำตาลและความนิยมในผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม บริษัทจึงได้ขยายธุรกิจไปยังบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้ โดยใช้เยื่อจากชานอ้อยสีน้ำตาลปราศจากการฟอกสีซึ่งเป็นงานวิจัยที่อยู่ระหว่างการขอจดสิทธิบัตรของบริษัทในการผลิตสินค้าบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น จานและชาม ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ (ประมาณ 90%) มีเป้าหมายในการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศอื่น ๆ ภายใต้การรับผลิตสินค้า (OEM) ทั้งนี้ บริษัทยังขายสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง "SEW" ภายในประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณผลผลิตน้ำตาลและราคาในตลาดโลก ทั้งนี้ผลผลิตอ้อยของบริษัทในฤดูการผลิตล่าสุด (ปี 2564/2565) เพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ในขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำตาลเพิ่มขึ้น 14.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 18.6 เซนต์ต่อปอนด์ในไตรมาสแรกของปี 2565 ส่งผลให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 108.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2565 ในขณะที่ EBITDA เพิ่มขึ้น 73.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ระดับ 534 ล้านบาท
ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายหลายด้านในอนาคตอันใกล้ทั้งจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่ง การเพิ่มขึ้นของต้นทุนจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ทริสเรทติ้ง คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า ทั้งนี้ ปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงส่งผลบวกต่อธุรกิจน้ำตาลแต่ยังมีผลดีต่อธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วย
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะดีขึ้น โดยสมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำตาลโลกจะอยู่ที่ระดับประมาณ 20 เซนต์ต่อปอนด์ในปี 2565 ทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายได้รวมจากผลการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 5.4-6 พันล้านบาท ในปี 2565-2567 ในขณะที่ EBITDA จะอยู่ที่ระดับ 800-1,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน