สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลงานวิจัยและพัฒนาภายใต้การดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคกลางตะวันตกด้วย BCG โมเดล ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้โครงการตาม พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท จำนวน 2 โครงการ คือ 1.โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM 1) และ 2.โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM 2) เข้าร่วมจัดแสดง ณ บูธนิทรรศการกระทรวง อว. ในงาน The Federation of Thai Industries Expo 2022 : FTI Expo 2022 ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดย กระทรวง อว. มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินการจัดนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด พัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (BCG Creative Economy)
โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM 1) เป็นคลังหัวเชื้อจุลินทรีย์กว่า 10,000 ชนิด สร้างผู้ประกอบการได้ 41 ราย ชดเชยการนำเข้าหัวเชื้อจุลินทรีย์ได้ 30% ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ 380 ล้านบาท และส่งผลกระทบทางสังคม 110 ล้านบาท ประสบผลสำเร็จ ดังนี้ 1) ขยายการผลิตจุลินทรีย์เพิ่มขึ้นได้ 25,000 ลิตรต่อปี 2) พัฒนานวัตกรรมจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่โดดเด่น 15 สายพันธุ์ที่มีศักยภาพตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกกับ อย. จำนวน 15 สายพันธุ์ 3) พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เสริมโพรไบโอติก ได้แก่ ไอศกรีม นมอัดเม็ด ปลาร้าผง น้ำพริกพร้อมทาน เครื่องดื่มชงเย็น jelly และอาหารเสริมสูตรฟังก์ชั่นสำหรับลดน้ำหนัก สร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน กระตุ้นการทำงานของสมอง และปรับสมดุลร่างกาย 4) พัฒนานวัตกรรมการยืด Shelf life ของโพรไบโอติกในผลิตภัณฑ์ต่างๆ 5) นวัตกรรมลดต้นทุนการผลิตโพรไบโอติกเพื่อการแข่งขันด้านราคากับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และ 6) นวัตกรรม synbiotics และ post-biotics เพื่อเสริมภูมิสุขภาพและป้องกันโรค NCDs ตัวอย่างผลงานวิจัยที่นำไปจัดแสดงนิทรรศการ ดังนี้ น้ำตาลพาลาทีน นวัตกรรมน้ำตาลที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลให้สมดุล ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัทน้ำตาลราชบุรี และผลิตภัณฑ์เสริมโพรไบโอติก ได้แก่ ซีไรซ์ ไอศกรีมผสมอะโวคาโด ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และเครื่องสำอางผสมโพรไบโอติก ได้แก่ Proskin series และ Facial Biocream ซึ่งมีประสิทธิภาพช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของเกราะคุ้มกันผิว บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ช่วยลดความหมองคล้ำ ปกป้องผิวจากเชื้อโรคและมลภาวะ
โครงการศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (ICPIM 2) มีสายการผลิตชีวภัณฑ์ครอบคลุมตอบโจทย์ทั้งสายการผลิตเชื้อราและแบคทีเรีย รูปแบบของชีวภัณฑ์ที่ผลิตมี 3 รูปแบบ คือ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อน้ำ และหัวเชื้อผง มีบรรจุภัณฑ์ 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง และใหญ่ สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ชีวภัณฑ์ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ มีกำลังการผลิตรวมต่อปีมากถึง 115,000 ลิตร มีศักยภาพตอบโจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมของไทย โดย วว. มีหลายส่วนงานที่ร่วมบูรณาการดำเนินงาน ครอบคลุมและรองรับงานด้านชีวภัณฑ์ครบวงจร ได้แก่ ศูนย์จุลินทรีย์ มีสายพันธ์จุลินทรีย์ในคลังมากกว่า 11,000 สายพันธุ์ เพื่อนำไปวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ มีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ พร้อมให้บริการจัดเก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์ให้กับผู้ประกอบการ มีศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งมีห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานตาม OECD GLP GUIDLINE ในการให้บริการวิเคราะห์ทดสอบความเป็นพิษของจุลินทรีย์ และในส่วนของ โรงงาน ICPIM 2 ให้บริการครบวงจรทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่ๆ ในระดับห้องปฏิบัติการ และทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องในงานด้านชีวภัณฑ์ โดยมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รับน้องๆในระดับอุดมศึกษามาเรียนรู้ ฝึกงาน รวมถึงทำวิจัยในด้านต่างๆ ของการพัฒนางานด้านชีวภัณฑ์ ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ โรงงาน และภาคสนาม เพื่อเป็นแรงงานรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมเกษตรและชีวภาพในอนาคต ตัวอย่างผลงานวิจัย ที่นำไปจัดแสดงนิทรรศการ ได้แก่ สารชีวภัณฑ์ชนิดผง ซึ่งผ่านการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพในการควบคุมศัตรูพืช รวมถึงทดสอบความเป็นพิษในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO/IEC 17025 ตามหลัก OECD GLP GUILDLINE และผ่านการผลิตในโรงงานด้วยเครื่องจักรระดับกึ่งอุตสาหกรรมที่ได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตสะอาด ปราศจากเชื้ออื่นปนเปื้อน
วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เสริมแกร่งเกษตรกร ผู้ประกอบการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th line@TISTR IG : tistr_ig