เครือซีพีเร่งเดินหน้าสู่เป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ปรับแผนเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนตลอดห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการ ใช้ทั้งแผนการลดควบคู่การชดเชย รุกมองหานวัตกรรมและโซลูชันใหม่มาเป็นช่วยตัวสำคัญ ร่วมสนับสนุนโครงการ "Decarbonize Thailand Startup Sandbox" หรือ DTS ผลักดันสตาร์ทอัพสร้างโซลูชันช่วยลดคาร์บอน มองเป็นจุดสำคัญในการดึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาช่วยแก้ปัญหาได้เร็วขึ้น ชี้เป็นเรื่องรอไม่ได้ต้องเดินหน้าแข่งกับเวลา
นายสมเจตนา ภาสกานนท์ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาความยั่งยืน สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือซีพีได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ในปี 2065 โดยเครือซีพีกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2030 นั่นคือจะลดการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงานภายในองค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม (Scope 1 และ Scope 2) ให้ได้มากที่สุด พร้อมชดเชยส่วนที่เหลือด้วยการปลูกต้นไม้และคาร์บอนเครดิต
เครือซีพีได้ปรับเป้าหมายใหม่ และอยู่ระหว่างการทำแผนงานเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หลังจากการเข้าร่วมโครงการ Race to Zero และ Business Ambition for 1.5 C ที่ภาคเอกชนจะร่วมกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นความท้าทายการรักษาสมดุลในการเติบโตทางธุรกิจและลดการปล่อยคาร์บอน โดยเครือซีพีได้วางเป้าหมายต้องการลดคาร์บอนให้ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการให้ครบถ้วน (Value Chain) ที่ต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ซึ่งอันดับแรกต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ เพราะถ้าทำแบบเดิมเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น ก็คงไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้อย่างแน่นอน ดังนั้น นอกจากลดปล่อยคาร์บอนแล้ว ต้องมีการชดเชยควบคู่กันไปด้วย โดยการกักเก็บคาร์บอนจากการปลูกป่า และเทคโนโลยีการดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอนอย่างถาวร
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยียังไม่ได้พัฒนาไปถึงจุดที่นำมาใช้เชิงพาณิชย์อย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่อยู่ในขั้นทดลอง หรือสเกลเล็ก ๆ ทำให้มีราคาแพงมาก จึงเป็นเหตุผลให้เครือซีพีสนใจเข้าร่วมในโครงการ "Decarbonize Thailand Startup Sandbox" หรือ DTS สนับสนุนสตาร์ทอัพเพื่อสร้างโซลูชั่นช่วยลดคาร์บอนให้องค์กร และผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมาย Net Zero เพราะเครือซีพีไม่ได้มีความชำนาญในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในทุกด้าน ดังนั้น จึงมองหาเทคโนโลยีจากองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยเฉพาะสตาร์ทอัพจะมีความคล่องตัวในการคิดค้นและพัฒนามาก ทำให้เวทีในลักษณะนี้เป็นจุดสำคัญที่จะดึงคนที่มีความชำนาญในแต่ละด้านมาช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรที่ไม่สามารถพัฒนาโซลูชันได้อย่างรวดเร็ว
"ประเด็นสำคัญคือ เราเป็น Net Zero ในทันทีไม่ได้ ผลกระทบต่อโลกจากการชะลอการลดการปล่อยคาร์บอนออกไปมีเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เพราะมีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เราต้องเริ่มกันตั้งแต่วันนี้ ซึ่งมองว่าความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้และกลไกลของสตาร์ทอัพน่าจะช่วยเป็นส่วนสำคัญเร่งให้เร็วขึ้น จากเดิมโปรเจคที่อยู่ในขั้นทดลองกว่าจะใช้ได้ในเชิงพาณิชย์อย่างกว้างขวางอาจจะนานถึง 20 ปี ก็ไม่ทันแล้ว ต้องลดเวลาลงมา"
นายสมเจตนา กล่าวต่อว่า การที่เครือซีพีจะไปถึง Net Zero ในอนาคต เครือฯ จำเป็นต้องทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร เอสเอ็มอี รวมถึงผู้บริโภคด้วย โดยจะให้ความรู้และสนับสนุนกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจในการร่วมมือกัน ที่สำคัญจะเร่งมองหานวัตกรรมหรือโซลูชันมาตอบโจทย์ ทั้งเรื่องของพลังงานสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียน โซลูชันทางด้านขนส่งสินค้าและบริการ การกำจัดของเสีย เรื่องของภาคเกษตรกรรม ตลอดจนการดักจับคาร์บอนจากอากาศมาใช้ประโยชน์และกักเก็บอย่างถาวร
"เครือซีพีได้จัดทำยุทธศาสตร์ความยั่งยืนอย่างครอบคลุม โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งที่อยู่ในประเด็นความยั่งยืน ซึ่งต้องยอมรับว่ากระบวนการผลิตสินค้าและบริการส่งผลกระทบต่อโลก ยิ่งผลิตมากขึ้นก็มีการใช้ทรัพยากรอย่างมาก จึงเป็นเรื่องความรับผิดชอบขององค์กร ขณะที่ทุกวันนี้กฎระเบียบทางการค้าได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ มีการใช้ประเด็นเหล่านี้มาคัดเลือกคู่ค้า หากผู้ผลิตทำไม่ได้หรือไม่ทำ จะถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน"