รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วยรองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายก อบจ. ตากในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีตาก เตรียมจัดงานบันทึกสถิติโลก "ไม้ตาก" ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก 69.70 เมตร จากกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด (Guinness World Records) อย่างเป็นทางการในวันที่ 8 ก.ค. นี้ หวังเปิดมิติใหม่ของการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาจังหวัดตาก รับนักท่องเที่ยวหลังโควิดคลี่คลาย
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เวลา 17.00 น ณ ลานกลางแจ้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก พร้อมด้วย นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีตาก แถลงข่าวร่วมกันถึงการเตรียมจัดงาน "บันทึกสถิติโลก ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก" ที่จะจัดขึ้น ณ อุทยานแห่งชาติ ดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) อำเภอบ้านตาก ในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ หลังจากที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนการบันทึกสถิติโลกครั้งนี้ มานานนับปี
นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า มีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก ที่ประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าของสถิติโลกครั้งใหม่ "ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก" ในครั้งนี้ และภาคภูมิใจแทนประชาชนในจังหวัดตาก ที่ไม้กลายเป็นหินมีการบันทึกสถิติโลกนี้อยู่ที่จังหวัดของเรา เพราะไม้กลายเป็นหิน ที่มีความยาวถึง 69.70 เมตร ต้นไม้จริงน่าจะยาวร่วม 100 เมตร แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่อดีตของพื้นที่จังหวัดตาก การบันทึกสถิติกับ Guinness World Record ในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการรับรองสถิติระดับโลกอย่างเป็นทางการแล้ว ยังทำให้จังหวัดตากเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก และการช่วยโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวผ่านช่องทาง Guinness World Record ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยว โดยชุมชนจะได้รับประโยชน์โดยตรง จากการเชื่อมโยงแหล่งธรณีวิทยา เข้ากับวิถีชีวิต เศรษฐกิจชุมชน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นขยายตัวจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการท่องเที่ยวทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
ด้านนายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึงการบันทึกสถิติโลกในครั้งนี้ว่า เกิดขึ้นจากร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งหน่วยงานภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนการขอรับรองสถิติไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกอย่างเป็นทางการกับ Guinness World Records (GWR) มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ทางกรมทรัพยากรธรณีและสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จัดส่งให้ GWR เพื่อขอรับรองสถิติโลกอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการตรวจสอบว่าเป็นไม้กลายเป็นหินจริง จากองค์ประกอบของแร่ธาตุต่าง ๆ อายุของไม้กลายเป็นหิน และที่สำคัญ คือความยาว 69.70 เมตร ที่จะขอบันทึกเป็นสถิติที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งในวันที่ 8 ก.ค. นี้จะมีการวัดความยาวอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันต่อหน้าสักขีพยานและสื่อมวลชนร่วมกัน
ส่วนนายณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ นายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัดตาก ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานธรณีตาก กล่าวว่า ไม้กลายเป็นหินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่หายากและมีคุณค่า ทั้งในด้านวิชาการ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการเป็นมรดกของแผ่นดินไทย การบันทึกสถิติโลกของกินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ด ในครั้งนี้ จะส่งผลให้ชุมชนและประชาชนรับรู้ถึงความยิ่งใหญ่ของแหล่งทรัพยากรธรณี อันจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจและความตระหนักถึงความสำคัญของไม้กลายเป็นหินตาก เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวระดับสากล รวมทั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เกิดการบูรณาการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ซึ่งประกอบด้วย เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินอย่างสร้างสรรค์ และมีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่จังหวัดตาก
ทั้งนี้ ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก ที่จะบันทึกสถิติโลกในวันที่ 8 ก.ค. นี้เป็นหนึ่งในไม้กลายเป็นหินที่ถูกค้นพบในปี พ.ศ. 2546 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว มีความยาวมากที่สุด 69.70 เมตร หรือเทียบเท่ากับความสูงของตึก 20 ชั้น มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.8 เมตร มีอายุไม่ต่ำกว่า 120,000 ปี จากการตรวจสอบพบว่าเป็น "ต้นทองบึ้ง" ซึ่งไม่พบในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันแล้ว แต่พบมากในพื้นที่ป่าดิบชื้นทางภาคใต้และบริเวณคาบสมุทรมลายู การค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าไทยเป็นแหล่งธรณีวิทยาที่สำคัญที่มีซากดึกดำบรรพ์สามารถเป็นแหล่งศึกษาวิวัฒนาการของโลกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศช่วงกว่า 120,000 ปีที่ผ่านมา ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าในอดีตพื้นที่จังหวัดตากแห่งนี้ เคยมีสภาพเป็นป่าดึกดำบรรพ์มาก่อน นับเป็นแหล่งมรดกธรรมชาติทางธรณีวิทยาที่สำคัญมาก ซึ่งพร้อมเป็นแหล่งศึกษาด้านวิชาการทางธรณีวิทยา แหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชน แหล่งท่องเที่ยว และนำไปสู่การจัดตั้งอุทยานธรณีไม้กลายเป็นหินตาก (Tak Geo Park) ต่อไป