๖ ผ้าบาติกทรงสะสมหาชมยากในนิทรรศการ "ผ้าบาติกในพระปิยะมหาราช:สายสัมพันธ์สยามและชวา" สัมผัสเรื่องเล่าผ่านลวดลาย ที่ถ่ายทอดในวัฒนธรรมผ้าบาติกแห่งชวา
ภายใต้ความงดงามของลวดลายอันวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าบาติก ที่จัดแสดงอย่างเรียบง่าย ณ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในพระบรมมหาราชวัง เต็มไปด้วยเรื่องเล่าแห่งศรัทธาและความเชื่อของผู้คนหลายเชื้อชาติ เชื่อกันว่า 'ผ้าบาติก'หรือ'ผ้าปาเต๊ะ'มีถิ่นกำเนิดจากอินโดนีเซีย โดยช่างฝีมือจะถ่ายทอดเทคนิคในการสร้างสรรค์ลวดลาย และการลงสีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งยังได้รับอิทธิพลในการสร้างสรรค์ลวดลายจากวัฒนธรรมต่าง ๆ อาทิ เปอร์เซีย อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ จึงไม่ผิดหากกล่าวว่า 'ผ้าบาติก'เป็นผ้าที่มีประวัติศาสตร์ร่วมในหลายวัฒนธรรมมานานนับร้อยปี
ทว่าน้อยคนนักจะรู้ว่า ภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ได้จัดแสดงผ้าบาติกหาชมยาก ผ้าบาติกจากช่างฝีมือชื่อดังในประวัติศาสตร์ และผ้าบาติกที่มีเพียงผืนเดียวในโลก ที่ทำให้ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจากหลายประเทศแวะเวียนมาเยี่ยมชมนิทรรศการผ้าบาติกในพระปิยะมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวาอยู่เสมอ ผ้าบาติกอายุนับร้อยปีกว่า ๓๐๐ ผืน เป็นของทรงสะสมและมีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ได้รับการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี มีการให้หมายเลขกำกับ และบันทึกข้อมูลรายละเอียดแนบไว้ทุกผืน
พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ชวนทุกท่านสัมผัสเรื่องเล่าผ่านลวดลายของผ้าบาติกหาชมยากถึง ๖ ผืน ถ่ายทอดด้วยถ้อยภาษาอันละมุนโดย คุณศาสตรัตน์ มัดดินหรือ 'คุณราฟ'ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการที่ควรหาโอกาสไปชมสักครั้งในชีวิต
๑. ผ้าบาติกจากโรงเขียนผ้าของนาง เอ. เจ. เอฟ. ยานส์ เมืองเปอกาลองงัน:ด้วยเป็นชาวตะวันตกที่มาตั้งรกรากและโรงเขียนผ้าบนเกาะชวา ลวดลายที่ถ่ายทอดบนผืนผ้าจึงได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในยุโรป ณ ช่วงเวลานั้น อาทิ ริบบิ้น นก ดอกไม้ บูเกต์ หรือ 'บูเกตัน'และเป็นศิลปินผ้าบาติกคนแรก ๆ ที่ลงลายเซ็นบนผืนผ้าโดยใช้ชื่อย่อว่า 'J. Jans'บริเวณด้านบนของหัวผ้า โดยเฉพาะลายดอกไม้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของโรงเขียนผ้าแห่งนี้ อันเกิดจากการผสมผสานศิลปะช่วงปลายยุควิกตอเรียนกับศิลปะอาร์ตนูโวบริเวณหัวผ้า ส่วนท้องผ้าเป็นลายช่อดอกไม้สลับกับนกคู่ มีดอกมะลิรายรอบบนพื้นหลังของผ้า เอกลักษณ์อันโดดเด่นของโรงเขียนผ้าแห่งนี้อยู่ที่การลงสีพาสเทล เช่น สีฟ้า สีชมพู สีเหลือง เป็นต้น มาสร้างสรรค์ลวดลายให้มีความอ่อนช้อยและงดงามมากขึ้น
๒.ผ้าบาติก 'ปัง บิรู อูงัน' เมืองลาเซ็ม:ผ้านุ่ง (โสร่ง) แบบปัง บิรู อูงัน มาจากโรงเขียนผ้าของพ่อค้าชาวจีน ลวดลายบนผ้าบาติกจึงสะท้อนความเชื่อของชาวจีนผ่านสัตว์มงคลต่าง ๆ เช่น 'ปลาคาร์ปกระโดดข้ามประตูมังกร'สื่อถึงความมานะ อดทน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของการเอาชนะอุปสรรคในการสอบเข้ารับราชการ นอกจากนี้ ยังมีลวดลายของกิเลน ผีเสื้อ ไก่ฟ้า นกฟีนิกซ์คู่ ฯลฯ ร่วมกับการใช้สีมงคลของชาวจีนอย่างสีแดง รวมถึงการนำสีมาใช้ตั้งชื่อลาย เช่น ปัง (สีแดง) บิรู (สีน้ำเงิน) อูงัน (สีม่วง) โซกะ (น้ำตาล) อีโจ (สีเขียว) เป็นต้น
คุณราฟกล่าวเสริมว่า"ผ้าบาติกชวานิยมใช้ประมาณ ๕-๖ สี ส่วนสีเขียวจะพบเห็นได้น้อยมาก นอกจากโรงเขียนแห่งหนึ่งในเมืองเซมารัง โดยแต่ละเมืองจะสร้างสรรค์ลวดลายของผ้าบาติกที่มีเสน่ห์ไม่เหมือนกัน ส่วนเปอกาลองงันและลาเซ็มเป็นสองเมืองที่รัชกาลที่ ๕ ไม่ได้เสด็จฯ เยือน เนื่องจากสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พระราชโอรส) ทรงประชวรระหว่างเสด็จฯ เยือนชวา (พ.ศ. ๒๔๔๔) พ่อค้าจึงนำผ้าจากสองเมืองนี้มาให้ทอดพระเนตร ณ โรงแรมที่ประทับ อันเป็นที่มาของผ้าบาติกที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ครั้งนี้"
๓.ผ้าบาติกลาย 'ปารัง รือสัก บารอง' โรงเขียนผ้าของนางแวน ลาวิก แวน แพบสต์ เมืองยอกยาการ์ตา: หนึ่งในโรงเขียนผ้าบาติกที่มีชื่อเสียงระดับโลก ด้วยเป็นโรงเขียนผ้าของชาวฮอลันดา เชื้อสายจีน ลวดลายส่วนใหญ่จึงได้แรงบันดาลใจจากศิลปะตกวันตก ยกเว้นลาย'ปารัง รือสัก'ที่จัดอยู่ในกลุ่มลายชั้นสูงสวมใส่ได้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูงถือเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของกริช มักทำเป็นลักษณะแนวทแยง แต่ละแถวแทรกด้วยลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนขนาดเล็กเรียกว่า'มิลิยง' และเป็นลวดลายเดียวกับที่สุลต่านถวายให้แก่รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จฯ เยือนชวา ลายปารังเป็นที่นิยมอย่างมากในชวากลางโดยเฉพาะเมืองยอกยาการ์ตาและสุราการ์ตา
๔. ผ้าบาติก'ลายฮุก'โรงเขียนผ้าของนางแวน ลาวิก แวน แพบสต์เมืองยอกยาการ์ตา: อีกหนึ่งลวดลายที่สงวนไว้ใช้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางชั้นสูง'ลายฮุก'มีลักษณะเป็นวงกลม มีนกอยู่ตรงกลาง ล้อมรอบด้วยเปลือกหอย ๔ ด้าน โดยวงกลมเปรียบเสมือนไข่ สื่อถึงจุดกำเนิดของสิ่งมีชีวิต ขณะที่เปลือกหอยตามความเชื่อของชาวฮินดูถือเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ ส่วนความเชื่อของชวาหมายถึง ความร่ำรวยและมั่งคั่ง
คุณราฟเล่าว่า"โรงเขียนผ้าแห่งนี้รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ เยือนถึงสองครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ และ พ.ศ. ๒๔๔๔ ทรงพบกับนางแวนและบุตรสาวคนโต (ซึ่งมีชื่อเดียวกัน) ทรงบรรยายถึงเนื้อผ้าและขั้นตอนการทำผ้าบาติกของโรงเขียนแห่งนี้ไว้อย่างละเอียด และทรงชื่นชมว่าเป็นผ้าบาติกเนื้อดีนำเข้าจากยุโรป สันนิษฐานว่าผ้าบาติกของโรงเขียนแห่งนี้น่าจะมีชื่อเสียงอย่างมาก เพราะมีการนำผ้าไปจัดแสดงในงานThe Brussels International Exposition of 1910 (World's Fair) ณ ประเทศเบลเยียม และจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ Tropenmuseum (กรุงอัมสเตอร์ดัม) จุดเด่นของโรงเขียนนี้นอกจากจะอยู่ที่ลวดลายละเอียดอ่อนช้อยบรรจง แล้วยังเน้นการลงสีครามได้งดงามราวกับผ้าไหม"
๕. ผ้าบาติกลาย 'ปาสแรน'แห่งเมืองสุราการ์ตา:ท่ามกลางผ้าบาติกมากมายภายในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ยังมีผ้าบาติกลายปาสแรนที่โดดเด่น สะดุดตา และดึงดูดความสนใจของผู้คนเป็นอย่างดี ผ้าผืนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อเรื่องแม่โพสพหรือ 'เทพีแห่งข้าว'ของชาวญี่ปุ่น ช่างฝีมือบรรจงวาดลวดลายและให้สีสันอ่อนช้อยอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ 'ร่ม'หมายถึงการคุ้มครองป้องกัน'พัด'หมายถึงความสงบสุข ลวดลายบนผ้าผืนนี้จึงสื่อถึง 'ศรี'หรือจิตวิญญาณแห่งแผ่นดิน ซึ่งได้ 'น้ำ'มาจากซาโดโน (Sadono) ผู้เป็นพี่ชายฝาแฝดที่เป็นตัวแทนของท้องฟ้า เพื่อก่อกำเนิดสิ่งมีชีวิต เห็นได้จากลายนกที่เกาะอยู่บนต้นไม้ ผ้าบาติกผืนนี้เป็นอีกหนึ่งหาชมยาก นอกจากในพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ แห่งนี้
๖. ผ้าบาติกลาย 'สิริกิติ์'(Sirikit):ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง สื่อถึงพระสิริโฉมและพระจริยวัตรอันงดงาม เมื่อครั้งโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๘-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๓ และเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทยและอินโดนีเซีย คุณมาเรีย วาโวรันตู ที่ปรึกษานิทรรศการได้แปลความหมายคำว่า 'สิริกิติ์'โดย'สิริ'มาจากคำว่า 'ศรี'แปลว่าสวย และ 'กิต'แปลว่า การรวมกัน เมื่อรวมกันแล้วจึงหมายความถึง "สิ่งสวยงามอันหลากหลายที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้การรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแข็งแกร่งขึ้น"
"ลวดลายในผืนผ้าประกอบด้วยสามเหลี่ยมหน้าจั่วที่ภายในเต็มไปด้วยดอกไม้หลากหลายชนิด อาทิ 'ใบเฟิร์น'สัญลักษณ์ของพลังและความแข็งแกร่ง 'ดอกกานพลู'และ 'ดอกกาแฟ'แทนกลิ่นดอกไม้หอม ซึ่งเชื่อว่าช่วยส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี'เมล็ดข้าว'บนพื้นหลังของผืนผ้าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและความเจริญรุ่งเรือง ส่วนพื้นหลังสีน้ำทะเลและลายเกล็ดปลา เชื่อว่าสามารถปกป้องผู้สวมใส่จากโรคภัยไข้เจ็บได้"คุณราฟกล่าวเสริม
นอกจากผ้าบาติกหาชมยากทั้ง ๖ ผืน ภายในนิทรรศการ ผ้าบาติกในพระปิยะมหาราช:สายสัมพันธ์สยามและชวา ยังนำเสนอเรื่องราวการเสด็จฯ เยือนชวาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทั้ง สามครั้ง จัดแสดงผ้าบาติกสะสมจากเมืองต่าง ๆ บนเกาะชวา เปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๑ -๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๖ ณ ห้องจัดแสดง ๓-๔ พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ ในพระบรมมหาราชวัง (วัดพระแก้ว) เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา ๙.๐๐-๑๖.๓๐ น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓๐ น.
ติดต่อพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐
โทรศัพท์ (+๖๖) (๒) ๒๒๕ ๙๔๒๐
เว็บไซต์ http://www.qsmtthailand.org/