มนัญญา แจ้งข่าวดีส่งออกสินค้าเกษตรปี 65 แซงหน้าปี 64 ปริมาณกว่า 15 ล้านตัน เกิน 4 แสนล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday July 1, 2022 14:27 —ThaiPR.net

มนัญญา แจ้งข่าวดีส่งออกสินค้าเกษตรปี 65 แซงหน้าปี 64 ปริมาณกว่า 15 ล้านตัน เกิน 4 แสนล้านบาท

มนัญญา แจ้งข่าวดีส่งออกสินค้าเกษตร 5 เดือนแรกปีนี้ปริมาณกว่า 15 ล้านตัน กวาดรายได้เข้าประเทศแล้วกว่า 4.69 แสนล้านบาท เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 64 เพิ่มขึ้นถึง 28.57 เปอร์เซ็นต์ ผลไม้สดยังเหนียวครองแชมป์ส่งออกอันดับ 1 อธิบดีกรมวิชาการเกษตรปลื้มระบบใบรับรอง e Phyto นำร่อง 22 พืชไปจีนกระแสดีเกินคาด วันที่ 1 ก.ค. 65 ดีเดย์ให้บริการครอบคลุมทุกสินค้าทุกประเทศทั่วโลก

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรด้านพืชของไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟิ้นตัว รัฐบาลเริ่มเปิดประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าพืชไปต่างประเทศของไทยเป็นที่ต้องการของทั่วโลก โดยกลุ่มบริการส่งออกสินค้าเกษตร กรมวิชาการเกษตร รายงานว่าเพียง 5 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-พ.ค.) มียอดการส่งออกแล้วกว่า 15.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 469,178.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 28.57% (เทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 64) สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าในการตรวจสอบคุณภาพการผลิตสินค้าพืชของประเทศไทย

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้นยังมีผลมาจากการที่กรมวิชาการเกษตร จับมือกับ กลุ่มพันธมิตรทั่วโลก เปิดตัวระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ "e Phyto" โดยหลังนำร่องเปิดใช้งานส่งออกพืช 22 ชนิดไปจีนพบกระแสดีเกินคาด สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ตั้งแต่ประเทศปลายทางจนถึงเกษตรกร เป็นการอำนวยความสะดวกในการส่งออกสินค้าพืชและผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้อย่างมหาศาลเข้าประเทศกว่า 4.69 แสนล้านบาท โดยในวันที่ 1 ก.ค. 2565 นี้ จะให้บริการครอบคลุมทุกสินค้าทุกประเทศทั่วโลก

สำหรับสินค้ายอดนิยม 5 อันดับแรกที่สร้างมูลค่าการส่งออกให้ประเทศไทยได้แก่ อันดับ 1 ผลไม้สด มียอดการส่งออกกว่า 1.02 ล้านต้น สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 1.54 แสนล้านบาท โดยผลไม้สดที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 5 อันดับแรก คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าวอ่อน และ มะม่วงอันดับ 2 ไม้ และ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นไม้ มียอดในการส่งออกกว่า 2.97 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 8.2 หมื่นล้านบาท โดยไม้และผลิตภัณฑ์ที่เป็นเป็นไม้ 5 อันดับแรกคือ ไม้ยางพารา ไม้อัด (board) ไม้ยูคาลิปตัส (สับ) ไม้อัด (veneer) ไม้สับ และ ไม้ชิ้นอันดับ 3 มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ มียอดในการส่งออกกว่า 5.96 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 6.5 หมื่นล้านบาท โดยมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ 5 อันดับแรกคือ มันสำปะหลัง (มันเส้น) แป้งมันสำปะหลัง (Starch) มันสำปะหลัง (กากอัดเม็ด) แป้งมันสำปะหลัง (flour) และ เม็ดสาคู (จากมันสำปะหลัง)อันดับ 4 ข้าว มียอดในการส่งออกกว่า 3.28 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 6.4 หมื่นล้านบาท โดยข้าวที่สร้างมูลค่าในการส่งออก 5 อันดับแรก คือ ข้าวหอม ข้าวขาว ข้าวนึ่ง ปลายข้าว และ ข้าวเหนียวอันดับ 5 ยางพาราและผลิตภัณฑ์ มียอดในการส่งออกกว่า 1.15 ล้านตัน สร้างมูลค่าในการส่งออกถึง 5.5 หมื่นล้านบาท โดยยางพาราและผลิตภัณฑ์ในการส่งออก 5 อันดับแรกคือ ยางธรรมชาติผสมยางสงเคราะห์ ยางแท่ง ยาพารา (น้ำ) ยางแผ่นรมควัน ยางพารา (ยางอื่น)

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า นอกจากนี้ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกพืช ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 28.57 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 มาจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและในแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีมากขึ้นเพียงพอสำหรับการทำการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรขยายการเพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา รวมถึงความต้องการสินค้าพืชมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในต่างประเทศ จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด -19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิตและมีการปรับปรุงดูแลผลผลิตเพื่อให้ได้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐานตรวจรับรอง GAP ของกรมวิชาการเกษตร และมาตรฐานตรงกับความต้องการของต่างประเทศ

รวมทั้งการดำเนินการตามนโยบายและมาตรการอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมอาชีพเกษตร การฟื้นฟูของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกษตรกรสามารถทำการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และมีช่องทางในการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ประกอบกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าทั้งในแอฟริกา เอเซีย ตะวันออกกลาง ส่งผลให้มีกำลังซื้อมากขึ้นตามความต้องการบริโภคสินค้าพืชในแต่ละประเทศ รวมถึงราคาส่งออกสินค้าพืชและกำลังผลิตของเกษตรกรในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้นดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ