ไทยยังคงรักษาสถานะตลาดอสังหาฯ โปร่งใสบนเวทีโลก

ข่าวอสังหา Friday July 1, 2022 14:39 —ThaiPR.net

ไทยยังคงรักษาสถานะตลาดอสังหาฯ โปร่งใสบนเวทีโลก

รายงานดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์โลกฉบับปี 2565 จากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังคงรักษาตำแหน่งตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีความโปร่งใสเป็นอันดับที่ 10 ในเอเชียแปซิฟิก และอันดับที่ 3 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รายงานฉบับรายสองปี ระบุด้วยว่า คะแนนความโปร่งของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยปรับดีขึ้นเล็กน้อยจาก 2.64 ในปี 2563 เป็น 2.63 ในปีนี้ (1 = โปร่งใสสูงสุด 5 = โปร่งใสต่ำสุด) อย่างไรก็ดี อันดับในระดับโลกของไทยปรับลดลง 1 ตำแหน่งจาก 33 ใน 2563 เป็นอันดับที่ 34 ในปีนี้ เนื่องจากโรมาเนียที่เคยอยู่ในอันดับที่ 35 ในปี 2563 กระโดดขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 32 ในปีนี้

นายไมเคิล แกลนซี กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า "ดัชนีความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ได้ขยับออกจากกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่โปร่งใสปานกลาง ขึ้นมาอยู่กลุ่มตลาดโปร่งใสเป็นครั้งแรกในรายงานฉบับปี 2563 ซึ่งระดับความโปร่งใสที่เพิ่มขึ้นจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในการดึงดูดการลงทุน ในขณะที่ไทยเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบแล้วในขณะนี้"

รายงานดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์โลกโดยเจแอลแอล จัดทำและเผยแพร่ทุกๆ สองปี โดยเป็นการนำเสนอบรรทัดฐานความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่นักลงทุน ผู้พัฒนาโครงการ รวมไปจนถึงเจ้าของหรือบริษัทผู้เช่า-ใช้อสังหาริมทรัพย์ สามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการพิจารณาจากหลายแง่มุม ได้แก่ ข้อมูลตลาดที่มีให้เข้าถึงได้ โครงสร้างการปกครอง กฎระเบียบและกฎหมาย ขั้นตอนการทำธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนมีผลต่อการเพิ่มหรือลดความเสี่ยงในการตัดสินใจใดๆ ของนักลงทุน หรือผู้เช่า-ใช้อสังหาริมทรัพย์

สำหรับเอเชียแปซิฟิก รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของภูมิภาคยังคงมีพัฒนาการสูงขึ้น และเอื้อต่อการขยายตัวของการลงทุนพัฒนา ซื้อขาย หรือเช่าใช้อสังหาริมทรัพย์ โดยตลาดของภูมิภาค มีคะแนนดัชนีความโปร่งใสปรับเพิ่มขึ้นในหลายด้าน อาทิ กฎหมาย ความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และการมีข้อมูลตลาดเปิดเผยมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ จะมีส่วนในการช่วยให้สามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้นในอนาคตต่อไป

ในขณะที่ภาพรวมแสดงให้เห็นว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์เอเชียแปซิฟิกมีค่าดัชนีความโปร่งใสเพิ่มสูงขึ้น แต่การปรับเพิ่มขึ้นมีอัตราที่แตกต่างกันไปสำหรับประเทศต่างๆ

ในปีนี้ ญี่ปุ่นได้ขยับสถานะจากกลุ่มตลาดโปร่งใส ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มโปร่งใสสูง จากหลายปัจจัย อาทิ การกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ การนำมาตรฐานอาคารต่างๆ เข้ามาใช้ ซึ่งมุ่งเน้นความยั่งยืนมากขึ้น การมีความโปร่งใสมากขึ้นในกระบวนการรายงานความเสี่ยงต่างๆ เกี่ยวสภาพภูมิอากาศ

ส่วนสิงคโปร์ กำลังขยับใกล้เข้ากลุ่มตลาดโปร่งใสสูงมากขึ้น จากการมีข้อมูลให้เข้าถึงได้ในเชิงลึกและครอบคลุมมากขึ้น อีกทั้งยังมีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนด้านความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม

อินเดียติดอยู่ในกลุ่มตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าดัชนีความโปร่งใสปรับตัวดีขึ้นมากที่สุด อันเป็นผลมาจากการลงทุนระดับสถาบันที่มีปริมาณเพิ่มขึ้น และการเติบโตของภาคกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งเสริมให้มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลมากขึ้น

ส่วนจีน สถานภาพของการเป็นตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่โปร่งใสมีความชัดเจนมากขึ้น ตอกย้ำโดยการประกาศใช้มาตรฐานใหม่ด้านประสิทธิภาพอาคาร มาตรฐานที่สูงขึ้นเกี่ยวการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของกระบวนการและการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

นายแอนโธนี เคาส์ ซีอีโอภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า "การเสริมสร้างความโปร่งใสของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเอเชียแปซิฟิก จะช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถดึงดูดความสนใจของนักลงทุนได้มากขึ้น และทำให้บริษัทผู้เช่า-ใช้อสังหาริมทรัพย์มีความมั่นใจมากขึ้น ดังนั้น คาดว่า จะมีการลงทุนมากขึ้นในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศที่มีความพยายามในการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง การปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปกป้องการคอบครองอสังหาริมทรัพย์ และกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำธุรกรรมซื้อขายเช่า"

"ในปีนี้ เราสังเกตพบว่า ประเด็นเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม มีบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจใดๆ ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินแผนงานในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ดังนั้น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยมุ่งเน้นให้มีความยืดหยุ่นและส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ในภูมิภาคนี้ สามารถดึงดูดความสนใจในระยะยาวของทั้งนักลงทุน และผู้เช่า-ใช้อสังหาริมทรัพย์ได้" นายเคาส์กล่าว

ผลการศึกษาของเจแอลแอล แสดงให้เห็นว่า ประเทศและเมืองต่างๆ ของเอเชียแปซิฟิกมีการดำเนินการตามrพันธสัญญาเกี่ยวกับการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้เคยประกาศไว้ ด้วยการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอาคารสิ่งปลูกสร้างให้สอดรับกับเป้าหมายภาพกว้างเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ ทั้งนี้ พบว่า มีการใช้ระบบรับรองมาตรฐานอาคารเขียวและอาคารที่เป็นมิตรต่อสุขภาวะของผู้ใช้อาคารอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยประเทศและเมืองชั้นนำ ได้กำหนดข้อบังคับให้บริษัทต่างๆ มีการรายงายผลการดำเนินการด้านความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม และมีการจัดข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอาคารสิ่งปลูกสร้าง

รายงานดัชนีความโปร่งใสตลาดอสังหาริมทรัพย์โลกโดยเจแอลแอล ได้รับการจัดทำและเผยแพร่ทุกๆ สองปี โดยในปีนี้เป็นฉบับที่ 12 ครอบคลุม 154 เมืองใน 94 ประเทศและเขตแดนทั่วโลก

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ฟรีที่ http://www.jll.co.th/en/trends-and-insights/research/global-real-estate-transparency-index


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ