การเปิด "หลักสูตรดับเบิ้ลดีกรี" (Double Degree) ในสถาบันการศึกษาของไทยมีจำนวนมากขึ้น เพื่อตอบโจท์ผู้เรียนที่ต้องการทักษะอย่างรอบด้าน ซึ่งแน่นอนว่าหลักสูตรดับเบิ้ลดีกรีจะมีรายวิชาเพิ่มเติมมากกว่าหลักสูตรปกติ แต่เมื่อเทียบกับเวลาเรียนเพียง 4-5 ปี แล้วก็ได้ถึง 2 ใบปริญญาเลยทีเดียว อีกทั้งหลักสูตรดับเบิ้ลดีกรีเหล่านี้ยังตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่ต้องการบัณฑิตที่มีความสามารถที่หลากหลายแขนง และมีความรู้ที่รอบด้านในคนเดียว
รองศาสตราจารย์ ดร.อนุวัฒน์ จางวนิชเลิศ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เปิดเผยว่า ความร่วมมือในการจัดตั้งหลักสูตร 2 ปริญญานั้น เป็นสิ่งที่ สจล. มุ่งมั่น และตั้งใจในการพัฒนาหลักสูตรอย่างมาก เพื่อให้เกิดเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงานให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันหลักสูตรทั้งหมดได้ถูกออกแบบโครงสร้างหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาอย่างแท้จริง ทำให้มั่นใจได้ว่าบัณฑิตที่จบการศึกษาจากหลักสูตรดับเบิ้ลดีกรีเป็นบัณฑิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ พร้อมที่จะเข้าไปทำงานเพื่อพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
'สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง' (สจล.) ได้พัฒนาหลักสูตรดับเบิ้ลดีกรีเพื่อให้ผู้เรียนสามารถขมวดรวมสิ่งที่ได้เรียน มาวิเคราะห์เพื่อต่อยอดเป็นองค์ความรู้ที่ปรับใช้ได้จริงในโลกการทำงานแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นประตูในการก้าวไปสู่โลกแห่งการทำงานที่เปิดกว้างขึ้น โดยมี 3 หลักสูตรที่น่าสนใจดังนี้
- หลักสูตรฟิสิกส์ไอโอทีดับเบิ้ลดีกรี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ปั้น นักฟิสิกส์ไอโอที พัฒนาเอไอก็ได้ วิเคราะห์บิ๊กดาต้าก็ดี จบครบในคนเดียว
หลักสูตรฟิสิกส์ไอโอทีนี้เป็นหลักสูตรจากความร่วมมือของ สาขาวิชาวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ (IoT System and Information Engineering) คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาวิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรม (Industrial Physics) คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตร 2 ปริญญาตรี ที่เรียนเพียง 4 ปีโดยวุฒิที่จะได้รับหลังเรียนจบ คือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบไอโอทีและสารสนเทศ และวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรม สำหรับการศึกษาในชั้นปีแรก จะศึกษาในสาขาวิชาที่ตนได้สมัครเข้าไป และเริ่มเรียนข้ามสาขาตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 เป็นต้นไป โดยนำศาสตร์ด้านฟิสิกส์อุตสาหกรรม วิศวกรรมศาสตร์ และระบบไอโอทีสารสนเทศมาบูรณาการร่วมกัน โดยเน้นความเข้าใจในด้านฟิสิกส์ทั้งพื้นฐาน และประยุกต์ รวมถึงความรู้ทางวิศวกรรมและคณิตศาสตร์เพื่อการวิเคราะห์ และบูรณาการความรู้เข้ากับเทคโนโลยีระบบไอโอที เพื่อพัฒนาทั้งในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กเดต้า รวมถึงการเขียนโปรแกรมและการพัฒนาแอปพลิเคชัน ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างนักฟิสิกส์ไอโอทีที่มีทักษะหลากหลาย พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption และสามารถบูรณาการองค์ความรู้ที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปในอนาคต ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในยุค Thailand 4.0
- หลักสูตรสถาปัตย์-วิศวะอินเตอร์ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ทั้งออกแบบ ทั้งก่อสร้างทำได้ในคนเดียว
หลักสูตรสถาปัตย์-วิศวะอินเตอร์ เป็นความร่วมมือของภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ภายใต้การเรียนการสอนในหลักสูตรนานาชาติ โดยวุฒิที่จะได้รับหลังเรียนจบ คือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา และวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาสถาปัตยกรรม การร่วมมือกันในครั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือการสร้างทักษะการเรียนรู้เพื่ออนาคต โดยตั้งเป้าให้คนใน Generation ใหม่ ไม่ได้มีเพียงทักษะวิชาชีพ แต่ยังมีความคิดสร้างสรรค์ โดยหลักสูตรนี้ไม่ได้สร้างแค่วิศวกร หรือสถาปนิก แต่ยังสร้างนวัตกร เพื่อสร้างให้เกิดการชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า 2 วิชาชีพทำงานร่วมกันอยู่แล้ว แต่ สจล. สามารถทำให้ 2 สาขาอาชีพนี้อยู่ด้วยกันได้ในคนเดียว ถือเป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างรวดเร็ว เพื่อให้บัณฑิตสามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีไม่ว่าจะด้านใดก็ตาม ทั้งนี้ นักศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าวยังมีโอกาสได้ฝึกงานเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ในทั้ง 2 ศาสตร์ที่ University of Newcastle ประเทศออสเตรเลียอีกด้วย
- หลักสูตร Global Leader Development Program จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะบริหารธุรกิจ ฉีกกฎนักบริหารแบบเดิม ปั้นวิศวกรสายพันธุ์ CEO เรียน 5 ปี ได้วุฒิตรีควบโท
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตอย่างเดียวอาจไม่เพียงพออีกต่อไป คณะวิศวกรรมศาสตร์จึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาในคณะทั้งหลักสูตรปกติ และหลักสูตรนานาชาติ เข้าร่วมหลักสูตร "Global Leader Development Program" เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสนใจด้านธุรกิจได้ศึกษาต่อยอดเพิ่มเติม โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตที่เป็นได้มากกว่าวิศวกร แต่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ เพื่อสร้างโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจในอนาคต โดยวุฒิที่ได้รับคือ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต จากคณะบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวใช้เวลาเรียนเพียงแค่ 5 ปี โดยจะเริ่มเรียนรายวิชาทางด้านการบริหารธุรกิจตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 เป็นต้นไป
โดยผู้ที่สนใจเข้าศึกษาสามารถศึกษาข้อมูลแต่ละหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่ สำนักทะเบียนและประมวลผล สจล. โทรศัพท์ 02-329-8163 หรือ 02-329-8203 เว็บไซต์ https://www.reg.kmitl.ac.th/curriculum/ หรือ https://www.facebook.com/reg.kmitl