สถานการณ์โรคระบาดส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภคไทยในเรื่องการดูแลตัวเองและสุขภาพทางอารมณ์ผ่านการรับประทานขนมกรุบกรอบ ผลวิจัยล่าสุดของ Mintel แสดงให้เห็นว่าคนไทย 77%* หันมารับประทานขนมกรุบกรอบ** เพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 81% ในกลุ่มอายุ 25-34 ปี
นอกจากนี้ความเครียดและความวิตกกังวลที่เกิดจากสถานการณ์โรคระบาด ประกอบกับวิถีชีวิตแบบคนเมืองที่เร่งรีบวุ่นวาย ยังส่งอิทธิพลต่อโอกาสในการรับทานขนมกรุบกรอบ ด้วยเช่นกัน ภาวะ "เคี้ยวไปเรื่อย" หรือการรับประทานขนมกรุบกรอบระหว่างทำงาน ระหว่างเดินทางท่องเที่ยว หรือระหว่างกิจกรรมยามว่างอื่น ๆ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภค 76% ทำเป็นประจำ
พิมพ์วดี อากิลา นักวิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม บริษัท Mintel Reports Thailand กล่าวว่า: "การรับประทานขนมกรุบกรอบเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไทยชอบทำเพื่อฆ่าเวลาในระหว่างวัน จากผลการวิจัยผู้บริโภคของ Mintel Global ในปี 2564 พบว่าคนไทยมีการรับประทานขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่มแทนอาหารมื้อหลักมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากคนอินเดียเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่น ๆ ในเอเชียแปซิฟิก ความสนใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและอารมณ์นั้นช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับแบรนด์ขนมกรุบกรอบต่าง ๆ ในการสื่อสารภาพลักษณ์ของตัวผลิตภัณฑ์และแคมเปญการตลาดในแง่ที่ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้สุขภาวะทางอารมณ์ดีขึ้น"
ผู้บริโภคไทยจำนวนมากรับประทานขนมกรุบกรอบในโอกาสที่เรียกว่า 'we-time' หรือช่วงเวลาที่ใช้ทำกิจกรรมพิเศษร่วมกับผู้อื่น (54%) รวมไปถึงเวลาที่พบปะสังสรรค์กับเพื่อน ๆ และคนในครอบครัว และ 'me-time' หรือช่วงเวลาที่รู้สึกเบื่อหรือเครียด (45%) เมื่อพิจารณาตามกลุ่มอายุ คนรุ่นมิลเลนเนียล (อายุ 25-44 ปี) จำนวน 59% จำแนกตนเองเป็นคนที่กินแบบ 'we-time' ในขณะที่คนรุ่น Gen Z (อายุ 18-24 ปี) จำนวน 58% กินแบบ 'me-time' มากกว่า
การปรับสมดุลสุขภาพด้วยการตามใจปาก
แม้ขนมกรุบกรอบจะช่วยเรื่องการผ่อนคลายอารมณ์ แต่โซเดียม สารเติมแต่ง และวัตถุกันเสียที่ใส่เข้ามาก็ยังคงขัดกับความต้องการของผู้บริโภคในเรื่อง 'อาหารเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น' อ้างอิงจากฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Mintel Global (GNPD)
ระหว่างเดือนมกราคม 2562 ถึงเดือนธันวาคม 2564 การเปิดตัวของขนมกรุบกรอบที่ทำด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติและไร้สารเติมแต่ง ปราศจากวัตถุกันเสียและสารก่อภูมิแพ้มีเพิ่มมากขึ้น (19%) ขณะที่ผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เติบโตขึ้นเช่นกัน (17%)
การบริโภคขนมกรุบกรอบที่ได้รับการรับรองคุณภาพจากองค์กรภายนอก อย่างการได้รับตราสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" นั้นเป็นที่ต้องการถึง 77% ในกลุ่มผู้บริโภคไทยที่เคยเห็นและทราบว่าตราสัญลักษณ์นี้มีความหมายอย่างไร
"นอกจากการลดลงของส่วนผสมที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพในขนมกรุบกรอบแล้ว (เช่น โซเดียม, สารเติมแต่ง) ผู้บริโภคไทยยังมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มเติมเพื่อที่จะทำให้รู้สึกผิดน้อยลงเมื่อกินขนมกรุบกรอบ อีกทั้งผู้ที่ชอบทดลองรสชาติใหม่ ๆ เองก็ยินดีจะจ่ายให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น การเติมสารอาหารเพิ่มเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับ ที่แบรนด์สามารถทำเพื่อยกระดับคุณค่าด้านสุขภาพของผลิตภัณฑ์ได้ เห็นได้ชัดว่าการเพิ่มคุณประโยชน์ทางด้านสุขภาพและการสร้างสรรค์รสชาติใหม่ ๆ โดยไม่สูญเสียรสชาติที่ดีไปจะเข้ามามีบทบาทในการทำให้ขนมกรุบกรอบเป็นส่วนหนึ่งของการกินเพื่อสุขภาพในหมู่ผู้บริโภคไทย" พิมพ์วดีกล่าว
*จากผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1,464 คน อายุมากกว่า 18 ปี ที่เคยรับประทานขนมกรุบกรอบในระยะเวลา 6 เดือน จนถึงเดือนมกราคม 2565
**นับรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบที่ทำจากถั่วประเภทฝัก มันสำปะหลังและพืชหัว ข้าวโพด มันฝรั่ง ข้าว ผัก ข้าวสาลี