"กิตติ สัมฤทธิ์" CEO บมจ.พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น เผย "พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค"ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ คว้างานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA ในสัญญางานจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ MARS Master (WRL) พร้อมอุปกรณ์ประกอบ จำนวน 142 แห่ง ตามโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 1 (คพจ.1) มูลค่าสัญญา 124,160,660 บาท ระบุหากโครงการดำเนินงานเสร็จสิ้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบศูนย์สั่งการจ่ายไฟ ทั้งในระบบจำหน่ายและระบบส่งไฟฟ้า เพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาด้านการปฏิบัติการและบำรุงรักษา เป็นไปตามกรอบการดำเนินการพัฒนาระบบโครงข่ายอัจฉริยะ (SMART GRID) ของ กฟภ.
นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (PCC) เปิดเผยว่า บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้รับงานใหม่ ในสัญญางานจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ MARS Master (WRL) พร้อมอุปกรณ์ประกอบ จำนวน 142 แห่ง ตามโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 1 (คพจ.1) มูลค่าสัญญา 124,160,660 บาท ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA
ทั้งนี้ งานในสัญญาดังกล่าวจะใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ Feeder Device Interfaces และอุปกรณ์วิทยุสื่อสารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาของโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบศูนย์สั่งการจ่ายไฟ ที่ดำเนินงานแยกกันตามเขตพื้นที่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 4 สัญญา มูลค่ารวม 1,141.38 ล้านบาท ซึ่งบริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด ได้รับสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา
นายกิตติ กล่าวว่า หากโครงการดังกล่าว ดำเนินงานสำเร็จเรียบร้อยแล้ว จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบศูนย์สั่งการจ่ายไฟ ทั้งในระบบจำหน่ายและระบบส่งไฟฟ้า ทำให้การควบคุมและสั่งการระบบไฟฟ้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาด้านการปฏิบัติการและบำรุงรักษา เป็นไปตามกรอบการดำเนินการพัฒนาระบบโครงข่ายอัจฉริยะ SMART GRID ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
"เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากกฟภ.อย่างต่อเนื่อง หลังล่าสุดบริษัทในเครือ คือ บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด คว้างานจ้างเหมาจัดหาพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ MARS Master (WRL) พร้อมอุปกรณ์ประกอบในเฟสแรก ซึ่งต้องขอบคุณทางกฟภ.ที่ให้ความเชื่อมั่นต่อบริษัทฯ โดยบริษัทฯจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ให้เสร็จสิ้นและส่งมอบงานตามแผนงานที่วางไว้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์การพัฒนาระบบโครงข่ายอัจฉริยะ SMART GRID ของกฟภ. ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการจัดหาไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ มีประสิทธิภาพที่ดี และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ" นายกิตติ กล่าวในที่สุด