มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) จับมือเครือข่ายพันธมิตรร่วมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง จากการเข้าทำงานในบริษัทเครือข่ายที่เข้ามาใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้โครงการศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย ตั้งเป้าพัฒนาบัณฑิตมีทักษะแรงงานตรงความต้องการของผู้ประกอบการและภายหลังจบการศึกษาพร้อมทำงานได้ทันที
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดย CIBA ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนที่มีความสนใจเข้ามาใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน CIBA จะป้อนนักศึกษา ตั้งแต่ปี 1-4 ให้เข้าทำงานในบริษัทนั้น ๆ ดังนั้น ระหว่างการศึกษาภายในมหาวิทยาลัยนอกจากภาคทฤษฎีแล้วนักศึกษาจะยังมีโอกาสได้สัมผัสกับการปฏิบัติงานจริง ในส่วนบริษัทที่เข้าร่วมโครงการก็จะได้ร่วมพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้ได้บุคลากรที่ตรงความต้องการของภาคธุรกิจนั้น ๆ ด้วย เมื่อบัณฑิตจบการศึกษาออกไปสามารถทำงานได้ทันที
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเปิดกว้างสำหรับธุรกิจทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น บริษัทด้านการบัญชี การตลาด โลจิสติกส์ ฯลฯ เข้าร่วมโครงการศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ พัฒนาทักษะแรงงานให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการจบแล้วพร้อมทำงานได้ทันที
"มหาวิทยาลัยเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการทุกประเภทธุรกิจที่มีความประสงค์ที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และมีความสนใจจะร่วมพัฒนาทักษะของนักศึกษา ซึ่งผู้ประกอบการเองก็จะได้เด็กที่มีทักษะในการทำงานตรงกับความต้องการ โดยบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะมีออฟฟิศในพื้นที่มหาวิทยาลัยเลย ดังนั้น นักศึกษาของเราจะสามารถทำงานและเรียนไปด้วยทั้งยังมีรายได้ระหว่างเรียนและยังนับเป็นรายวิชาในการเรียน"ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าว
นายธนสาร วาสันธิ์ CEO บริษัท การบัญชีไทย จำกัด สำนักงานการบัญชีไทย หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการศูนย์ปฏิบัติการเรียนรู้ เปิดเผยว่า นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ดี เพราะผู้ประกอบการเองก็ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านการเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวให้กับน้อง ๆ ที่เข้ามาฝึกงานจริงกับศูนย์ปฏิบัติการด้วย การเรียนเพียงทฤษฎีอาจจะมองไม่เห็นภาพของการทำงานจริง แต่ระหว่างเรียนได้ทำงานไปด้วย น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ใช้โปรแกรมจริง ๆ ในการทำงาน และมีรายได้เสริมระหว่างการเรียน ได้พบกับโลกของการทำงานจริง โดยสามารถมาฝึกงานกับเราได้ตั้งแต่ปี 1-4 ซึ่ง ปี 1 น้องๆจะได้เรียนรู้การจัดเก็บเอกสารและการวิเคราะห์รายการทางบัญชี ปี2 น้องๆจะได้ทำการลงบันทึกบัญชีและการนำส่งภาษี การทำบัญชีขั้นสูงขั้นมาอีก ในส่วนของปี 3 น้องๆ จะได้ทำการกระทบบัญชีและปรับปรุงรายการทางบัญชี เรียนรู้โปรแกรมด้านบัญชี และปีสุดท้าย ปีที่4 เรียนเรื่องการปิดงบการเงิน จะได้เรียนรู้เรื่องของการปิดบัญชีและการออกรายงานทางการเงิน ซึ่งเมื่อจบการศึกษาออกไปน้องๆก็จะสามารถปิดบัญชีและจัดทำรายงานทางการเงินได้อย่างมีความชำนาญและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ น้อง ๆ ที่จบออกไปจะไม่ต้องไปเรียนรู้งานใหม่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองก็ไม่ต้องเสียเวลากับการสอนงานให้กับพนักงานใหม่ นอกจากนี้ ยังถือเป็นการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานระหว่างเจนเนอเรชั่นที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการรุ่นเก่าก็ต้องเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับบุคลากรรุ่นใหม่ ๆ ด้วย
นายธนสาร กล่าวด้วยว่า ธุรกิจยุคใหม่ ต้องพัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป โอกาสที่นักบัญชีจะถูกดิสรัปชั่นจะเกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่มีการพัฒนาตนเองเท่านั้น การบันทึกข้อมูลด้านบัญชีต่าง ๆ งานในลักษณะนี้ AI สามารถทำแทนได้หมดแล้ว นักบัญชียุคใหม่ต้องพัฒนาทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจได้ ทักษะด้านนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมา เป็นความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ซึ่ง AI ทำแทนไม่ได้
"ตลาดแรงงานด้านบัญชี ถือว่าขาดแคลน ยิ่งคนที่มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ซึ่งความรู้ ความสามารถเฉพาะทาง ประสบการณ์ต่าง ๆ มี skill ใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เงินเดือน 50,000 - 100,000 บาท ทำได้ไม่ยากเลย ดังนั้น นักบัญชียุคใหม่ต้องทำตัวเองให้เป็นหัวใจของธุรกิจให้ได้ อย่าเป็นแค่นักบัญชีที่แค่บันทึกบัญชี ต้องเป็นนักบัญชีที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่กิจการได้
อยากฝากถึงน้อง ๆ ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย เมื่อเข้ามาแล้วให้ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าตนต้องการอะไร อยากจะเป็นอะไร ถ้าเป้าหมายเราชัดเจน จะมีความกระตือรือร้นมากขึ้น เมื่อจบออกไปจะเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพตอบโจทย์การบริหารบัญชีที่เป็นหัวใจของธุรกิจและตรงตามความต้องการตลาดแรงงาน" นายธนสารกล่าวฝากทิ้งท้าย