สรุปการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ในเรื่องจริยธรรมทางการศึกษา

ข่าวเทคโนโลยี Friday March 25, 2005 12:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซฟิก
ในการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The 4th Session of the World Commission on the Ethics of Scientific Knowledge and Technology — COMEST) ครั้งที่ 4 และเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 3 วัน ณ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจาก 40 ประเทศทั่วโลกจำนวนราว 500 คนนั้น ในวันแรกได้มีการนำเสนอหลักการการสอนจริยธรรม (Ethics) ในภาพรวม โดยนำเสนอการเรียน การสอนรูปแบบต่าง ๆ ในอดีต และนำเสนอวิธีการใหม่ที่คิดว่าควรจะครอบคลุมวิธีการสอนที่น่าจะได้ผล
ศาสตราจารย์ ดีโก้ กราเซีย อาจารย์จากมหาวิทยาลัยคอมพลูเทนส์ จากประเทศสเปน ได้ย้อนให้เห็นถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ขาดการควบคุมและขาดความรับผิดชอบ เช่น เหตุการณ์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ รวมถึงค่ายรมแก๊สออสวิทซ์(Auschwitz) และดาเชา (Dachau) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทางที่ผิดและสร้างความเสียหายต่อสังคมมนุษย์อย่างใหญ่หลวง
ต่อมาองค์การยูเนสโกได้ประกาศปฏิญญา (Declaration) ว่าด้วยการศึกษาด้านจริยธรรมเพื่อให้มีการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน และได้เริ่มจัดตั้งคณะกรรมการโลกว่าด้วยจริยธรรม องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน การสอนด้านจริยธรรมในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสถาบันการศึกษาทุกระดับ ทั้งนี้ รูปแบบที่ใช้ในการเรียนการสอนในอดีตมี 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) การสอนแบบลัทธินิยม(Indoctrination) ซึ่งเป็นการเรียนการสอนแบบสร้างความเชื่อ ปุจฉาและวิปัสสนา (Catechisation) และ (2) การสอนแบบอดทนและเป็นกลาง (Toleration and Neutrality) เน้นการอดทนและความเป็นกลางในความเชื่อส่วนตัวโดยการสร้างการแจกแจงคุณค่า (Value Clarification) ของนักเรียนนักศึกษาโดยที่ผู้สอนไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก การเรียนการสอนแบบใหม่ที่ถูกนำมาเสนอในที่ประชุมครั้งนี้คือ การเรียนในรูปแบบพินิจวิเคราะห์(Deliberation) โดยเป็นการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พิจารณาและวิเคราะห์ความเป็นเหตุเป็นผลของความเชื่อ เป็นการเพิ่มปรัชญาในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ง่ายในการปฏิบัติ ทั้งนี้ข้อจำกัดของการเรียนการสอนแบบนี้ได้แก่ (1) การมีคำถามที่มีคำตอบ (2) การมีคำถามที่ไม่มีใครให้คำตอบได้อย่างถูกต้องและชาญฉลาดและ (3) ขีดความสามารถในการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง
การสอนแบบพินิจวิเคราะห์ เป็นทางเลือกในการสอนที่เคยสอนแบบอดทนและเป็นกลาง เป็นการให้เหตุผลแก่ตนเองและผู้อื่นว่ากระบวนความคิดอ่านมีคุณธรรมและมีเหตุผลที่ฉลาดและรอบคอบ วิธีการสอนแบบพินิจวิเคราะห์ มี 3 วิธี ได้แก่ (1) การฝึกปฏิบัติด้านเหตุและผล (Practical reasoning) (2) การวิเคราะห์เหตุและผล และ (3) เป้าหมายไม่ใช่บทสรุปหรือคำตอบเดียว (goal is not to reach one conclusion) นอกจากนั้นการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์จะต้องสามารถใช้ได้กับสังคมและให้ทุกคนได้มีสิ่งที่ดีที่สุดของตนเอง เพื่อให้เป็นรูปธรรมที่จะนำการเรียนการสอบแบบนี้มาใช้และทดแทนการสอนแบบลัทธินิยมและแบบอดทนและเป็นกลาง ผู้อภิปรายได้เสนอแนวทางไว้กล่าวคือ
1. ควรเริ่มให้มีการเรียนการสอนด้านจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงระดับมหาวิทยาลัย
2. UNESCO จะต้องให้การสนับสนุน ส่งเสริมการเรียนการสอนด้านจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก่ทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา
3. UN จะต้องให้การสนับสนุนโครงการการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable development program) โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา
ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์ และจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมีสาระสำคัญได้แก่
1. การสอนจริยธรรมอาจเป็นด้านความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ โดยเฉพาะคริสตจักรได้ทำการสอนแบบอดทนและเป็นกลาง ฉะนั้นการสอนจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ความรู้ความเข้าใจต่อกฏเกณฑ์ ธรรมชาติ และการประยุกต์ใช้ของเทคโนโลยี
2. ต้องมีความเข้าใจเป้าหมายของการประยุกต์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทุกสาขาอาชีพ และต้องคำนึงถึงจริยธรรมของแต่ละอาชีพหรือวิชานั้น ๆ
3. ในโลกของสังคมใหม่ (post modern society) จะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นใหม่ ๆ
4. ต้องคำนึงถึงสภาพของสังคม ความแตกต่างของสังคมไม่ว่าจะเป็นแบบปัจเฉกหรือพหุนิยมของสังคม
5. รูปแบบการเรียนการสอนจริยธรรมไม่สามารถออกแบบเฉพาะได้ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสังคมนั้น ๆ
6. หลักสูตรการศึกษาจริยธรรมในมหาวิทยาลัยควรต้องตอบสนองต่อวิชาชีพและคุณธรรมและมีประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการนำไปใช้
7. จริยธรรมในสหสาขาของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีการจัดการให้เกิดประสิทธิภาพประสิทธิผลมากสุด
8. การเรียนการสอนด้านจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
9. การเรียนการสอนด้านจริยธรรมแบบพินิจวิเคราะห์ต้องหลีกเลี่ยงแนวคิดแบบลัทธินิยมและทัศนคติในการตัดสินความถูก-ผิด
10.จะต้องไม่ตกอยู่ในวังวนหรือกับดักความเชื่อของตน
11.จะต้องกำหนดกรอบการศึกษาที่ให้นักเรียนนักศึกษาแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี
12.จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการเรียนจริยธรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระบบการศึกษาทุกระดับ
13.การพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีจริยธรรม และมีคุณภาพในการสอน
14.การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์สามารถนำมาใช้ได้ระดับภูมิภาคโดยผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย ฯลฯ
15.การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์สามารถนำมาใช้แต่ต้องคำนึงถึงระดับของกลุ่มเป้าหมายด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการ นักการเมือง หรือชาวบ้าน เพราะอาจเกิดปัญหาจากการขาดความรู้ความเข้าใจ ก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาในสังคม
16.การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์สามารถนำมาใช้กับการศึกษานอกระบบได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดในห้องเรียน หรือโรงเรียน
17.การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์สามารถนำมาใช้ในการเพิ่มความตระหนัก รอบครอบในกระบวนการตัดสินใจ และเป็นวิธีการพัฒนาภูมิปัญญา และเป็นที่ยอมรับ
18.การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์มาใช้ต้องคำนึงถึงเวลาโดยต้องอุทิศเวลาในการส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้
19.ความเข้าใจของสังคม และวัฒนธรรมที่จะนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์มาใช้
20.การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์มาใช้ ต้องมีทักษะ (skills) ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องได้รับการฝึกฝนให้มีความรู้ การพินิจวิเคราะห์ การเข้าใจสภาพและการยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากผู้อื่น
21.การใช้สื่อสาธารณะ (Public media) ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีจริยธรรมในสาขาวิชาชีพไม่ว่าจะเป็นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหรือสาขาอื่น
22.การนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบพินิจวิเคราะห์มาใช้ จะต้องชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ และความจำเป็นในการให้ความร่วมมือ นอกจากนั้นต้องใช้เวลามากเนื่องจากมีผู้เกี่ยวข้องมากโดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ
23.ประเทศญี่ปุ่นได้คำนึงถึงจริยธรรมด้านวิชาชีพโดยเฉพาะสาขาชีววิทยา ได้มีการรับฟังความคิดเห็น และการยอมรับของประชาชน
สำหรับผู้สนใจที่ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมการจัดการประชุมคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (COMEST) ครั้งที่ 4 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเจ้าภาพ สามารถคลิกเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เวปไซด์ www.most.go.th/comest
สื่อมวลชนต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ
ยุวดี ชมบุญ / เกษมศรี แก้วธรรมชัย
บริษัท ธนบุรินทร์ เอเชีย แปซฟิก จำกัด
โทรศัพท์ 02 231 6158-9
โทรศัพท์มือถือ 09 669 5286 และ 01 611 4696
แฟกซ์ 02 231 6230
อีเมล์ yuwadi@thanaburin.co.th และ kasemsri@thanaburin.co.th--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ