นักลงทุนรุ่นใหม่ มองตลาดการลงทุนเผชิญแรงกดดันจากสองปัจจัยลบ "เงินเฟ้อสูงทั่วโลก - เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย" ฉุดกราฟราคาทางเทคนิคของทองคำและน้ำมัน กำลังเป็นขาลง แต่หากตลาดการเงินปรับธีมจากความกังวลภาวะเงินเฟ้อมาเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย "ทองคำ" จะเป็นสินทรัพย์ที่มีความน่าสนใจในการลงทุนระยะยาว แต่ระยะสั้นยังคงได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น
นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า ตลาดการลงทุนทั่วโลกในเวลานี้กำลังเผชิญกับสองปัจจัยลบสำคัญ เรื่องแรกคือความกังวลในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED เร่งใช้นโยบายการเงินที่เคร่งครัด และมีผลทำให้กระแสเงินทั่วโลกไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงกลับเข้ามายังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ
เห็นได้จากดัชนี DXY หรือ Dollar Index ที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 107 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นสถิติใหม่ ส่งผลให้ค่าเงินอื่น ๆ ทั่วโลกอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว เช่น สกุลเงินยูโรที่อ่อนค่าทำสถิติใหม่ รวมถึงค่าเงินบาทไทยที่อ่อนค่าแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และการที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างมาก ยังทำให้ราคาทองคำถูกเทขายลงมาด้วย โดยติดลบกว่า 15% จากจุดสูงสุดในปีนี้ ขณะที่ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี (YTD) ให้ผลตอบแทนติดลบแล้ว
ทั้งนี้ แนวโน้มของ Dollar Index ยังคงมีโอกาสแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ซึ่งกดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลดลงจากแรงเทขาย เนื่องจากเป็นสองสินทรัพย์ที่มีความสัมพันธ์กันโดยตรง แต่หากนโยบายการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ FED เริ่มที่จะนิ่ง และเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง "ทองคำ" อาจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาได้ในฐานะสินทรัพย์ที่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อในระยะยาวได้
"แนวโน้มกราฟเทคนิคของทองคำ ขณะนี้ ยังคงเป็นขาลง โดยจับตาแนวรับที่จุดต่ำสุดเดิมที่ 1,722 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าตรงนี้ยังรับไม่อยู่จะมีแนวรับถัดไปที่ 1,677 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนักเทรดระยะสั้นถึงกลาง ช่วงราคาขาลงนี้ยังไม่ใช่จังหวะเข้าลงทุน แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่มองทองคำเป็นการสะสมความมั่งคั่งสามารถที่จะทะยอยซื้อสะสมได้"
ส่วนปัจจัยลบที่สอง คือความกังวลในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession แม้จะยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ แต่ในตลาดการเงินมักจะมองล่วงหน้าไว้ก่อนเสมอ โดยคาดว่าการประกาศตัวเลขจีดีพีสหรัฐฯ ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ถ้าหากโตติดลบจากไตรมาสก่อนจะเข้าสู่ Recession อย่างเป็นทางการ แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งดัชนี Dow Jones และ S&P500 ที่ปรับตัวลงถือว่าตอบสนองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะโตติดลบไปแล้ว
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ ทั้ง WTI และ Brent ต่างปรับตัวลงแรงในช่วงสัปดาห์นี้ หลัก ๆ น่าจะมาจากความกังวลฝั่งดีมานด์ที่อาจจะลดลง จากการที่ประเทศจีนอาจจะใช้นโยบายปิดเมืองใหญ่เพื่อสะกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด บวกกับความกังวลเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้น ทางด้านฝั่งซัพพลาย มีปัจจัยลบจากการประกาศตัวเลขน้ำมันสำรองของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์สงครามในยูเครนเข้าสู่สภาวะยืดเยื้อมากกว่าการรบด้วยความรุนแรง ทำให้ราคาน้ำมันเริ่มไม่ตอบสนองเชิงบวกแล้ว
"กราฟเทคนิคของราคาน้ำมันดิบ Brent ในตอนนี้หากราคาหลุดระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แนวโน้มจะเปลี่ยนมาเป็นขาลงอย่างชัดเจน โดยอาจจะลงมาแตะระดับ 86 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ถ้ายังยืนอยู่ได้ ราคาจะมีแนวโน้มออกข้าง (Sideway) อย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยบวกที่จะผลักดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวขึ้นแรงยังไม่เกิดขึ้นในตอนนี้ ยกเว้นแต่สถานการณ์สงครามในยูเครนจะมีความรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน"
อย่างไรก็ตาม หากตลาดการเงินมีการปรับธีมใหม่จากความกังวลนโยบายการเงินที่เข้มงวดมาเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย "ทองคำ" น่าจะเป็นสินทรัพย์การลงทุนที่น่าสนใจขึ้นมา เพราะเมื่อเกิด Recession น่าจะส่งผลลบต่อตลาดหุ้นและราคาน้ำมัน ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่น่าจะยังคงตัวในระดับสูงระดับ 4-5% แม้ว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม เนื่องจากต้นทุนอาหารและของใช้ต่าง ๆ ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วมักจะไม่กลับลงไปต่ำกว่าเดิมอีก ดังนั้นการที่เงินเฟ้อคงตัวในระดับสูงแต่ไม่ถึงจุดพีค น่าจะเป็นผลดีต่อราคาทองคำ
"การเปิดเผยผลประชุม FED ครั้งล่าสุด เมื่อคืนวันพุธ (6 ก.ค.) ที่ผ่านมา ไม่มีแมสเสจอะไรใหม่ที่ออกไปเชิงลบ โดยกรรมการ FED ทั้งหมดมีความเห็นว่าการประชุมรอบหน้า ยังมีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยระดับ 0.5-0.75% ต่อไป ซึ่งเป็นแมสเสจเดิม จึงเป็นไปได้ว่าแรงกดดันจากนโยบายการเงินของ FED จะเริ่มคลี่คลายและตลาดจะไปโฟกัสที่ภาวะ Recession แทน"