ราคาน้ำมันพืชยังมีโอกาสขึ้นต่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 24, 2008 11:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์
แม้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันพืชจะลดลงจากที่เคยขึ้นไปสูงก่อนหน้านี้เพราะความกังวลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตของโลกในระยะสั้นได้คลายลง แต่เนื่องด้วยจีนและอินเดียยังมีอุปสงค์สูง และการเพาะปลูกพืชที่ใช้ทำน้ำมันในประเทศผู้ผลิตหลักมีข้อจำกัดในระยะยาว ราคาน้ำมันพืชจึงน่าจะยังขึ้นสูงได้อีก
สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันพืชเริ่มต้นเดือนมีนาคมปีนี้ด้วยบรรยากาศสดใสอย่างมากโดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบของตลาดอนุพันธ์เบอร์ซ่าในมาเลเซียทะลุระดับ 4,000 ริงกิตต่อตัน และภายในการซื้อขายเพียงสองวัน น้ำมันปาล์มดิบมีราคาเพิ่มขึ้นประมาณ 10% โดยใกล้เตะระดับ 4,300 ริงกิตต่อตัน แต่บรรยากาศการซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งก็มีราคาสูงขึ้นเนื่องด้วยความวิตกกังวลที่มีมากขึ้นในเรื่องอุปทานได้เริ่มเปลี่ยนไป ขณะนี้น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันถั่วเหลืองซึ่งรวมกันแล้วเป็นประมาณ 60% ของน้ำมันพืชที่บริโภคกันอยู่ซื้อขายกันในปัจจุบันในระดับต่ำกว่าราคาสูงสุดก่อนหน้านี้มากเนื่องจากการคลายความกังวลในเรื่องอุปทานและนักลงทุนบางรายขายโดยไม่ต้องการถือในระยะยาว อย่างไรก็ตาม แม้ราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันพืชจะตกลง แต่พื้นฐานในระยะยาวบ่งชี้ว่าราคาที่ลดลงคงเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น
น้ำมันพืชราคาสูงขึ้นโดยส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์ว่าจีนและอินเดียจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นโดยสองประเทศนี้เป็นผู้นำเข้าน้ำมันพืชรายใหญ่ที่สุดโดยทั้งสองประเทศนี้บริโภครวมกันประมาณ 30% ของน้ำมันพืชประเภทหลักๆทั้งหมด ตามการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา จีนจะนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองประมาณ 25% และกว่า 20% ของน้ำมันปาล์มทั้งหมดในฤดูกาลปัจจุบัน ในขณะที่อินเดียจะนำเข้าประมาณ 15% ของทั้งสองประเภท มีการคาดการณ์มาระยะหนึ่งแล้วว่าทั้งสองประเทศจะต้องการนำเข้าน้ำมันพืชในปริมาณสูง และเมื่อประจวบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายในทั้งสองประเทศเมื่อเร็วๆนี้จึงยิ่งทำให้การคาดการณ์ดูจะเป็นจริงมากขึ้น
เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จีนประสบกับพายุหิมะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ตามการประมาณการณ์ของทางการจีน นี่อาจทำให้ผลผลิตเรพซีดซึ่งใช้ทำเป็นน้ำมันพืชประเภทหนึ่งลดลงประมาณ 1.7 ล้านตันหรือประมาณ 15% ของผลผลิตทั้งหมดในฤดูกาลนี้ของจีน หรือลดลงเท่ากับปริมาณน้ำมันเรพซีดประมาณ 600,000 ตัน ส่วนในอินเดียนั้น ทางการคาดกว่าผลผลิตเรพซีดในปี 2551 นี้จะลดลง 15% เนื่องจากฤดูหนาวที่รุนแรง
ราคาน้ำมันพืชที่ผันผวนในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นผลจากที่นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับปัจจัยระยะสั้น แต่เป็นไปได้ที่ในระยะยาวราคาน้ำมันพืชจะยังคงเพิ่มสูงต่อไป ตามประมาณการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐนั้น ปริมาณน้ำมันพืชชนิดหลักๆที่จะคงเหลือเมื่อสิ้นฤดูกาลปัจจุบันจะลดเหลือระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2545/46 เนื่องจากประเทศต่างๆมีการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้นโดยเพิ่มขึ้น 72% ในรอบสิบปีที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับผลผลิตที่เพิ่มขึ้น 60% ในระยะเวลาเดียวกัน ปริมาณน้ำมันถั่วเหลืองคงคลังทั่วโลกก็คาดว่าจะลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2546/47 ส่วนหนึ่งเนื่อง จากการปลูกถั่วเหลืองที่ลดลงในปี 2550/51 ทั้งในสหรัฐอเมริกาเองและทั่วโลก นอกจากนี้ทั้งรัสเซีย สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปต่างมีความต้องการน้ำมันพืชในปริมาณสูงโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม
ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำมันพืชมากขึ้น
ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำมันพืชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะมีการใช้น้ำมันพืชเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่างๆรวมทั้งอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ ราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์และความพยายามของนานาประเทศที่จะลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้มีการหันมาใช้น้ำมันพืชเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มซึ่งมีสัดส่วนของพลังงานที่ได้ออกมาสูงเมื่อเทียบกับปริมาณที่ใช้ (9:1) สำหรับสัดส่วนของข้าวโพด ถั่วเหลือง และเรพซีดอยู่ที่ 3:1 สหภาพยุโรปซึ่งใช้น้ำมันปาล์มสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นหลักใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 54% เป็นปริมาณ 1.03 ล้านตันในปี 2547/48 แต่ก็ลดลงเหลือเป็น 650,000 ล้านตันในปี2549/2550 โดยสหภาพยุโรปบริโภคน้ำมันปาล์มเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของน้ำมันปาล์มที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลก อย่างไรก็ตามการใช้น้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมต่างๆทั่วโลกในปี 2551 นี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 9% ส่วนน้ำมันถั่วเหลืองจะเพิ่มขึ้นกว่า 25% แต่การใช้น้ำมันพืชในภาคอุตสาหกรรมก็อาจชะลอลงด้วยราคาที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การปลูกพืชที่สามารถใช้ทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีการถางป่ามากขึ้น ทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อลดภาวะโลกร้อน จึงทำให้บางประเทศรวมทั้งในสหภาพยุโรปชะลอการนำเข้าและใช้น้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตามสหภาพยุโรปก็ยังคงมีแผนที่จะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเพิ่มขึ้น และกระทรวงเกษตรของสหรัฐก็คาดว่าสหาภาพยุโรปจะนำเข้าน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4.1 ล้านตันจาก 3.8 ล้านตันในปี 2549/50
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันปาล์มทำอาหารก็ยังมีมากกว่าที่ใช้ในอุตสาหกรรม โดยประเทศส่งออกรายใหญ่เช่นอินโดนีเซียมีนโยบายตั้งกำแพงภาษีไม่ให้มีการส่งออกมากเกินไป ราคาน้ำมันปาล์มเป็นเรื่องอ่อนไหวทางการเมืองในอินโดนีเซียเนื่องจากประชาชนใช้เป็นเครื่องปรุงหลักในการทำอาหาร เมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อินโดนีเซียเพิ่มภาษีส่งออกสำหรับผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มต่างๆเป็นอัตราสูงสุดที่ 25% หากราคาในตลาดโลกเพิ่มถึงระดับ 1,300 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ประมาณ 4,100 ริงกิตต่อตัน) การเพิ่มภาษีเช่นนี้จะลดการส่งออกและส่งเสริมตลาดน้ำมันพืชที่ใช้ทำอาหารภายในประเทศ ส่วนประเทศนำเข้ารายใหญ่เช่นจีนและอินเดียก็ลดภาษีนำเข้าเพื่อทำให้ราคาน้ำมันพืชไม่สูงเกินไป โดยเมื่อปีที่แล้ว อินเดียลดภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มจากอัตรา 80% เหลือ45% ส่วนอัตราสำหรับน้ำมันถั่วเหลืองลดลงจาก 45% เหลือ 40% ส่วนจีนเองก็ลดภาษีนำเข้าน้ำมันถั่วเหลืองจาก 3% เหลือ 1% โดยการลดภาษีของจีนนี้จะมีผลถึงกันยายน 2551 นโยบายสวนทางของประเทศผู้ผลิตและประเทศนำเข้านี้ได้ส่งผลดีต่อราคาน้ำมันพืช
ล่าสุดนี้ ความกังวลด้านผลผลิตคงคลายไปได้บ้างเมื่อทางการจีนบอกว่าอาจปล่อยน้ำมันถั่วเหลืองคงคลังถึงระดับปริมาณ 600,000 ตันออกสู่ตลาดเพื่อช่วยแก้ปัญหาอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศ นอกจากนี้จังหวัดไฮหลงเจียงซึ่งผลิตถั่วเหลืองเป็น 30% ของทั้งประเทศก็จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกกว่าเท่าตัวในปี 2551 นี้ ตัวเลขผลผลิตในลาตินอเมริกา (บราซิลและอาร์เจนตินา) ก็ได้รับการปรับเพิ่มประมาณ 1.5 ล้านตันเป็น 108.6 ล้านตันจากเดิม 107.1 ล้านตัน นอกจากนี้หากราคาน้ำมันพืชสูงขี้น การใช้น้ำมันพืชในอุตสาหกรรมไบโอดีเซลก็จะลดลง มีการสำรวจพบว่าบริษัทต่างๆที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตไบโอดีเซลในมาเลเซียมีเพียงไม่ถึง 10% ที่ทำการผลิตอยู่เนื่องด้วยราคาน้ำมันพืชที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามในระยะใกล้นี้ การปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐอเมริกาคงจะเพิ่มขึ้น 12% เป็น 71 ล้านเอเคอร์ในปีนี้
สำหรับในระยะยาวนั้น ปัจจัยต่างๆยังคงส่งให้น้ำมันพืชอยู่ในระดับราคาที่สูง กระทรวงเกษตรของสหรัฐคาดการณ์ผลผลิตถั่วเหลืองในรอบ 10 ปี (2550-2559) ในสหรัฐว่าพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองภายในประเทศคงไม่เพิ่มไปกว่านี้ซึ่งสะท้อนถึงความจริงที่ว่าข้าวโพดให้ผลผลิตที่สูงกว่า ส่วนบราซิลซึ่งในที่สุดคงจะแซงหน้าสหรัฐในฐานะผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายใหญ่ที่สุดของโลกก็ไม่น่าที่จะเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้มากเนื่องจากต้องแข่งกับพืชไร่ชนิดอื่นเช่นข้าวโพด และพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองในบราซิลก็มีมากถึงกว่า 35% ของพื้นที่เพาะปลูกในประเทศแล้ว นอกจากนี้ เงินสกุลของบราซิลที่มีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐจะทำให้ถั่วเหลืองของบราซิลมีราคาสูง เหล่านี้ชี้ว่าราคาถั่วเหลืองคงตกได้ไม่นาน
สำนักวิจัยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเห็นว่าอินเดียยังต้องการน้ำมันพืชเพิ่มขึ้นเนื่องจากการบริโภคต่อคนต่อปีในปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับที่ควรมีโภชนาการ 25% และคนอินเดียจะบริโภคมากขึ้นเมื่อมีรายได้สูงขึ้น สภาพภูมิอากาศซึ่งยากที่จะทำนายก็อาจทำให้ผลผลิตลดลงและทำให้ราคาสูงขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ