วธ. ฟื้นฟูตลาดน้ำ ชูเป็นต้นแบบ "ตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย" ทุกภาคส่วนเห็นพ้องแผนฟื้นฟู 3 ด้าน กายภาพ ท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์ ร่วมกันออกแบบแลนด์มาร์ก จุดเช็คอิน จัดระเบียบ ปรับภูมิทัศน์ ดึงเสน่ห์อัตลักษณ์แต่ละแห่ง สร้างเป็นจุดขายจูงใจนักท่องเที่ยว ช้อปสินค้า ชิมอาหาร สร้างรายได้สู่ชุมชน
นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ประชุมตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปี ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๕ โดยมีวัฒนธรรมจังหวัด ผู้แทนตลาดน้ำ ชุมชน และพิพิธภัณฑ์ชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูตลาดน้ำ ตามนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับทุกภาคส่วน ฟื้นฟูวิถีชีวิตริมน้ำ ซึ่งวธ. ได้คัดเลือกตลาดน้ำจากทั่วประเทศ เช่น ตลาดน้ำในจังหวัดสมุทรสงคราม นครปฐม พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี เป็นต้น เพื่อพัฒนาให้เป็น "ตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปี ๒๕๖๕" ตามเกณฑ์การประเมินที่พิจารณาจากศักยภาพและความพร้อม ที่สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทางน้ำ และเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม แสดงถึงวิถีชีวิตริมน้ำ มีเรือซึ่งเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรม ประเพณีทางน้ำ เปิดพื้นที่ให้เกษตรกรนำพืชผลทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์หัตถกรรมมาจำหน่าย มีการจำหน่ายอาหารและสินค้าที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นของชุมชน จัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม การละเล่น และประเพณีต่าง ๆ ของท้องถิ่น เพื่อจูงใจให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
นางยุพา กล่าวอีกว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนฟื้นฟูตลาดน้ำสืบสานวัฒนธรรมไทย ประจำปี ๒๕๖๕ โดย วธ. จะเข้าไปสนับสนุนการฟื้นฟูด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ซึ่งแผนฟื้นฟูแบ่งเป็น ๓ ด้าน ได้แก่ ๑. ด้านกายภาพ อาทิ วิเคราะห์หาอัตลักษณ์เพื่อเป็นจุดขายของตลาด การจัดระเบียบความเรียบร้อย สร้างภาพลักษณ์เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำโดยการจัดทำโลโก้กลาง ให้เป็นมาตรฐานตลาดน้ำระดับประเทศและโลโก้แสดงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละแห่ง จัดทำป้ายบอกทาง จุดแลนด์มาร์ก และป้ายตกแต่งร้านค้า สร้างจุดเด่นด้วยการแต่งกายของพ่อค้าแม่ค้า ใส่หมวกและมีร่มสำหรับร้านค้าในเรือ ใส่ใจในความสะอาดของสินค้าและเรือ ๒. ด้านการท่องเที่ยว จัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทางน้ำ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง เปิดพื้นที่ให้ประชาชน เด็กและเยาวชนจัดแสดง เผยแพร่ และจำหน่ายผลงาน ๓. ด้านการประชาสัมพันธ์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลสำคัญ จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์รูปแบบต่าง ๆ ทั้งนี้ วธ.จะสนับสนุนการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือตลาดน้ำแต่ละแห่งจัดตั้งคณะกรรมการ บริหารเพื่อให้ทุกภาคส่วนในชุมชนเข้ามาร่วมดำเนินการ โดย วธ.จะเป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะกรรมการฯ ร่วมกันออกแบบแลนด์มาร์ก จุดเช็คอิน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย การปรับภูมิทัศน์ สร้างเสน่ห์แต่ละแห่ง เพื่อจูงใจ ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวต่อไปว่า วธ. ตั้งเป้าหมายจัดงานเปิดตัวตลาดน้ำ ซึ่งแต่ละแห่งจะมีเสน่ห์และอัตลักษณ์ที่โดดเด่น โดยส่งเสริมให้จัดกิจกรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง และพัฒนาให้สามารถเปิดให้บริการนักท่องเที่ยวได้ทุกเดือน ทุกวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ซึ่งเป็นไปตามความพร้อมของแต่ละแห่ง รวมถึงสร้างมาตรฐานของตลาดน้ำให้มีสินค้าคุณภาพดี สนับสนุนการรักษาสิ่งแวดล้อมของตลาดและชุมชนที่เหมาะสม จัดทำแผนฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวภายในจังหวัด โดย วธ. ได้มอบหมายสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดในพื้นที่ บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดอบรมผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจการดำเนินงาน การทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย (CCPOT) รวมทั้งจัดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่เชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ เพื่อกระจายรายได้ไปสู่ทั้งจังหวัด ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้าน ในชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน .