ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ มุ่งสู่เป้าหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ นำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทนในการผลิตเครื่องดื่ม
ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม ไฮเนเก้น ไทเกอร์ และเชียส์ มุ่งสู่เป้าหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ ภายใต้โครงการ "TAP's Brewed by the Sun"เพื่อนำพลังงานสะอาดที่ได้จากแสงอาทิตย์เข้ามาแทนที่การใช้พลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตเครื่องดื่ม และส่วนงานอื่นๆ ในโรงเบียร์ โดยตั้งเป้าหมายใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในการผลิตให้ได้ 100% ภายในปี 2025 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทั้งหมด 12,600 ตันต่อปี
สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์ม "TAP's Brewed by the Sun" เป็นการติดตั้งแผง Solar PV ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ บนพื้นที่ 10 ไร่ เพื่อนำพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโรงผลิต โดยเมื่อระบบพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมผลิตอย่างเต็มศักยภาพจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าทดแทนคิดเป็น 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในโรงผลิต เป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนของกระบวนการผลิตเบียร์ได้ถึง 720 ตัน CO2e ต่อปี หรือ 1.48 kgCO2e/HL ตลอดกรอบระยะเวลา 10 ปี โดยสามารถผลิตพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ได้ประมาณ 1,700 เมกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้ในแต่ละปี เทียบเท่ากับการใช้ไฟฟ้าของภาคครัวเรือนในตำบลไทรใหญ่ จำนวน 736 ครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของครัวเรือนทั้งหมดในตำบลไทรใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่โรงงานเบียร์ตั้งอยู่
คุณกวี เมฆทรงฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายผลิต กลุ่มบริษัททีเอพี กล่าวว่า "สำหรับเรื่องการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ทางบริษัทฯและโรงผลิตเราได้มีแผนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันครอบคลุมทุกมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องดื่ม ทั้งในเรื่องของการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดของเสียโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และล่าสุดกับเป้าหมายในการนำพลังงานสะอาดมาใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม ซึ่งบริษัทฯได้ริเริ่มขึ้นมาตามยุทธศาสตร์ความยั่งยืนของไฮเนเก้น "Brew A Better World" ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นต่อทั้งธุรกิจและสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานอื่นให้ได้สูงสุด อันเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนของภาคการผลิตให้ได้ภายในเป้าหมายปี 2573 ตามแผนที่เราวางไว้และสอดคล้องกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วยเช่นกัน"
ทางด้านนายสุรีย์ จรูญศักดิ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่ได้เข้าเยี่ยมชมโครงการโซลาร์ฟาร์มกล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของทางภาครัฐในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย ซึ่งภาคเอกชนถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้แผนยุทธศาสตร์นี้สำเร็จได้ "การหันมาใช้พลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานน้ำ ล้วนแล้วแต่มีข้อดีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้ง ณ ที่นั้นๆ โดยภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย มีศักยภาพสูงในการใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีแสงแดดตลอดทั้งปี ทำให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของแสงแดดถึง 20% นั้นจะเป็นโซนภาคกลางตอนล่าง หรือภาคใต้ ยิ่งบริเวณไหนที่มีความเข้มข้นของแสงแดด ก็จะยิ่งทำให้แผงโซลาร์เซลล์นั้นสามารถที่จะผลิตไฟฟ้าได้มากยิ่งขึ้น
ในกรณีของการติดตั้งแผงโซลาร์ของทางบริษัทฯ นั้น ถือว่าติดตั้งบนพื้นที่ที่ดีและสามารถต่อยอดไปได้อีกเยอะ ซึ่งในอนาคต ถ้าสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนได้ถึง 100% จะช่วยทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีค่าเป็นศูนย์โดยสุทธิ ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่ทั้งโลกให้ความสำคัญ และถือเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชมของภาคเอกชนไทยที่เห็นถึงความสำคัญในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน"